เฮือนปฏิมา แหล่งเรียนรู้ของนักปั้น

ปั้นความสุขผ่านงานเซรามิก
ชุมชนเกษตรกรรมเงียบสงบหลบความวุ่นวายมานอกตัวเมืองอย่างหมู่บ้านสันหมื่นแก้ว แทบจะนับหัวนักท่องเที่ยวในแต่ละวันได้ แต่งานของ ”อุเทน รินฟอง” เจ้าของ “เฮือนปฏิมา อาร์ท แกลเลอรี หรือชื่อเดิมเฮือนปฏิมาเซรามิก” ก็ยังล้นมือผลิตไม่ทัน

บ้านที่มีเนื้อที่กว้างขวางต่อเติมเป็นโรงงานเล็กๆ สำหรับผลิตชิ้นงานเซรามิกแบบครบวงจร พร้อมกับเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ประจำหมู่บ้าน ผลงานเซรามิกที่วางเรียงรายบริเวณชั้นวางจำหน่าย มีตั้งแต่ชิ้นเล็กจิ๋วเท่าปลายนิ้ว ปั้นเป็นรูปสัตว์ง่ายๆ ภาชนะเรียบเกลี้ยงขนาดพอเหมาะมือ ไปจนถึงงานขนาดใหญ่ตกแต่งลวดลายสวยงามพร้อมนำไปประดับ อุเทนมีจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ทำอยู่ด้วยใจรัก เรียนคณะศิลปกรรม สาขาเครื่องปั้นดินเผา และต่อยอดด้วยสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเซรามิก สำเร็จการศึกษามาด้วยเกียรตินิยม โดยสานต่อความชื่นชอบด้วยการเรียนไปด้วย ขายผลงานไปด้วย เรียนจบจึงทำงานด้านผลิตภัณฑ์เซรามิก อยู่ในเชียงใหม่ ไปพร้อมกับการเป็นวิทยากร และอาจารย์พิเศษตามสถาบันการศึกษาต่างๆ จนกระทั่งแต่งงานมีครอบครัวก็ย้ายตามภรรยามาที่พะเยา เปิดโรงงานเฮือนปฏิมาเซรามิก 

“ชื่อนี้มีที่มาจากที่ผมเคยเป็นเด็กวัดมาก่อน เฮือน หมายถึงบ้าน ปฏิมา หมายถึง องค์พระปฏิมา ก็เลยตั้งชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคล” หากไม่ติดภารกิจเดินทางไปทำงานด้านวิทยากร นักปั้นมือหนึ่งของโรงงาน จะมาเริ่มงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า ขลุกอยู่กับการทำงานต้นแบบ ดูแม่พิมพ์ หรืองานที่ต้องนำเสนอลูกค้า
“งานช่วงแรก ผมยึดรูปแบบตามแนวคิดของเซน เน้นความเรียบง่ายในรูปลักษณ์ ต่อมาก็ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับจังหวัดพะเยา และได้ทราบว่า มีแหล่งโบราณคดี เตาเผาโบราณ เวียงบัว ในตำบลแม่กา ซึ่งมีความเก่าแก่อายุกว่า 700 ปี และเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในแถบภาคเหนือ บริเวณที่ขุดค้นพบเตาเผาโบราณ เวียงบัว นั้น มีทั้งเตาเผาเก่า เศษถ้วยชาม ซึ่งบางชิ้นมีความสมบูรณ์ และลวดลายเป็นเอกลักษณ์ สันนิษฐานว่าอาจมีการค้าขายส่งออกกับประเทศอียิปต์ เพราะมีลวดลายบางส่วนคล้ายคลึงกันอย่างลายสุริยเทพ ลายสัตว์มงคล เช่น ปลา ม้า สิงห์ นอกจากนี้ยังพบลวดลายท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และการเวียนว่ายตายเกิด 

“เอกลักษณ์ของชิ้นงานที่เฮือนปฏิมา จึงใช้รูปแบบผสมผสานระหว่างเซนกับลวดลายโบราณประจำท้องถิ่น” คุณสมบัติเด่นของงานเซรามิกที่นี่ ยังมาจากการใช้หินแร่ธรรมชาติ เผาด้วยไฟอุณหภูมิสูงถึง 1,300 องศา เพื่อให้เกิดการบิดตัวของเนื้อดิน “ผลงานจึงเป็นชิ้นงานเดียวในโลกที่แต่ละชิ้นไม่เหมือนกันเลย เพราะเราทำมือ แต่งผลงานด้วยมือ มีร่องรอยความแตกต่าง และคุมเอกลักษณ์ด้วยโทนสีไม่ฉูดฉาด เน้นสีธรรมชาติ” จากการศึกษาด้านเซรามิกมาอย่างเชี่ยวชาญ ทำให้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ส่งประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติ ได้รางวัลต่างๆมาอย่างสม่ำเสมอ เคยได้เหรียญทองจากกระทรวงวัฒนธรรม และยังเป็นหนึ่งใน 50 สุดยอดศิลปินโอทอปของประเทศ ในปี 2559
ชีวิตอีกด้านของนักปั้นรายนี้ จึงได้ทำงานเป็นวิทยาการให้ความรู้ในหน่วยงานต่างๆ ก่อนที่จะนำมาสู่แนวคิดเปิดเฮือนปฏิมา เป็นศูนย์เรียนรู้ประจำจังหวัดเมื่อต้นปี 2560 เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจ เข้ามาศึกษาดูงานได้ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ไปจนถึงผลิตชิ้นงานของตัวเอง และผู้เรียนส่วนหนึ่งก็กลายเป็นเครือข่ายของผู้ประกอบการเซรามิกในท้องถิ่น

ส่วนนักท่องเที่ยว ก็สามารถแวะมาชม มาซื้อ หรือมาลองผลิตชิ้นงานง่ายๆได้ “ผมคิดราคาแบบไม่เอากำไร มีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ค่าวัตถุดิบ ราคาตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อยเท่านั้น”

You May Also Like