สรรค์หา

แพลตฟอร์มสินค้าออร์แกนิค ที่เพิ่มมูลค่าข้าวไทย ด้วยประสบการณ์แบบการชิมไวน์
สรรค์หา (Sunharr) แพลตฟอร์มสินค้าออร์แกนิค ที่หันมาเพิ่มมูลค่าให้ ข้าวไทย ด้วยประสบการณ์แบบการชิมไวน์กับ The RICE SOMMELIER
เสริมเอกลักษณ์ให้ข้าว ด้วยการสร้างคาแรคเตอร์
หากเราลองมองไปทั่วโลก จะเห็นสินค้าท้องถิ่นในหลายประเทศ ไม่ว่าจะ ไวน์ เมล็ดกาแฟ หรือกระทั่งเนื้อสัตว์ ล้วนได้รับการโปรโมตให้ผู้บริโภครู้จัก และรับรู้ถึงคาแรคเตอร์ รส กลิ่น และโปรไฟล์ ของสินค้านั้น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้สินค้าเหล่านี้ สามารถสร้างความแตกต่าง ขายได้ราคาดี แต่ในขณะที่ ข้าว สินค้าหลักของไทย กลับไม่มีการทำศึกษาวิจัยโปรไฟล์เฉพาะตัวของข้าวแต่ละสายพันธ์ุ ถ้าไปถามคนกิน หรือกระทั่งชาวนา คำตอบที่ได้ก็คือ สายพันธ์ุนี้นุ่มมาก หอมมาก แต่ไม่สามารถบรรยายลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละชนิดได้ จึงทำให้ข้าว เป็นสินค้าที่ไม่มีความแตกต่าง เหมือน ๆ กันหมด ราคาก็ตก เพราะปริมาณออกมาเยอะ ทีนี้ชาวนาก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะปลูกข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่น เพราะปลูกยาก แต่ไม่ได้ราคา แถมอาจจะขายไม่ออกด้วย
โปรโมตข้าวด้วยประสบการณ์แบบเดียวกับการชิมไวน์
สรรค์หา เลยหันมาช่วยโปรโมตข้าวแต่ละสายพันธุ์ ด้วยการสร้าง The RICE SOMMELIER ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนไทยจะได้รู้จัก และเข้าใจเอกลักษณ์ข้าวจริง ๆ ผ่านการทดลองชิมข้าว ในรูปแบบเดียวกับการชิมไวน์ โดยได้ความช่วยเหลือจากกลุ่มชาวนาไทอีสาน ที่มาให้ความรู้เรื่องสายพันธ์ุท้องถิ่นข้าว และเชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ จากร้านโบ.ลาน รวมไปถึงความร่วมมือจากกลุ่ม Nose Story ผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่น และ Brave Barista ที่มาช่วยกันออกแบบวิธีการชิมข้าว หลักการให้คะแนนข้าวในแต่ละด้าน ทั้งกลิ่น รสชาติ และรสสัมผัส โดยจัดชิมแบบทดลองที่ร้านโบ.ลาน เชิญเชพอาหารไทยแนวหน้า 10 ท่าน มาช่วยกันทดลองชิมเป็นกลุ่มแรก หลังจากนั้นจึงจัดเป็นการชิมข้าว โดยสาธารณชน ที่มีผู้คนนับร้อยมาทดลองชิมข้าว และให้คะแนนผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม เพื่อนำคะแนนทั้งหมดมาประมวลผลเผยแพร่สู่สาธารณะ
ตัวอย่างการใช้โปรไฟล์ข้าว มาเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
ข้าวสังฆ์หยดจากพัทลุง มีกลิ่นที่ให้ความรู้สึกเหมือนทะเล กลิ่นเค็ม ๆ และบางคนได้กลิ่นกระปิอ่อน ๆ ซึ่งพอเราไปสอบถามชาวนา ก็พบว่าเป็นเพราะสถานที่ที่นิยมปลูกข้าวชนิดนี้ เป็นที่ราบลุ่ม ใกล้หุบเขาที่ลมฝนจะหอบเอาน้ำทะเลมา จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าวมีกลิ่น Seafood นิด ๆ ซึ่งจากโปรไฟล์แบบนี้ เชฟบางท่านก็จินตนาการไปต่อว่า ถ้าข้าวสังข์หยด ไปทานคู่กับเมนูที่เป็น Fresh Seafood Capaccio น่าจะเข้ากันดี  หรืออีกตัวอย่างคือ ข้าวเขียวน้ำนม ที่มีกลิ่นคล้ายมัทฉะ (ชาเขียวญี่ปุ่น) ด้วยคาแรคเตอร์ข้าวที่เก็บเกี่ยวก่อนสุกเต็มที่ พร้อมกับซ้อมมือ ทำให้ยังมีเปลือกสีเขียวอ่อน ๆ กลิ่นคล้ายชาเขียว จนสามารถนำไปต่อยอดทำเป็นเครื่องดื่ม มัทฉะเขียวน้ำนมได้เลย ซึ่งจากแต่ละโปรไฟล์ข้าวที่ได้ จะพบว่าเราสามารถนำมารังสรรค์ เป็นโอกาสทางธุรกิจได้อีกมากมาย
ตั้งเป้าสร้างโปรไฟล์ข้าวที่ได้มาตรฐาน
โดยข้อมูลดาต้าเบสเหล่านี้ จะแสดงผลโปรไฟล์ข้าว ให้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้ โดยไม่มีลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวนา เชฟ หรือผู้ที่สนใจนำไปต่อยอดเพิ่มเติม โดยเราตั้งเป้าว่าการชิมข้าวเพื่อเก็บข้อมูล จะทำต่อเนื่องทุกปี  และเพิ่มกลุ่มตัวอย่างข้าว กับเพิ่มจำนวนผู้ชิมข้าว เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในเชิงสถิติ และทำให้ข้อมูลโปรไฟล์ข้าว สามารถถูกนำไปอ้างอิงใช้ได้อย่างมาตรฐาน ไม่แน่ต่อไป เราอาจจะไปซูเปอร์มาร์เกต เดินเลือกซื้อข้าวโดยดูข้างถุง อ่านโปรไฟล์ข้าว เหมือนที่เรานิยมอ่านข้างขวดไวน์ก็ได้  และถ้าประเทศอื่นทำให้กาแฟ ไวน์ ชีส เนื้อ ของแต่ละท้องถิ่น กลายเป็นสินค้าที่มีคาแรคเตอร์ของตัวเองได้ ทำไม ข้าวไทย จะเป็นแบบนั้นบ้างไม่ได้ล่ะ ! สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับโปรเจกต์ THE RICE SOMMELIER ลองแวะไปชมกันได้ที่ Facebook : andfriendsstudio หรือ โทร. 087-675-4755 (คุณชลิต)

You May Also Like