ถ้ามีเวลาเดินเท้าสำรวจกรุงเทพมหานครในย่านเมืองเก่า หรือเกาะรัตนโกสินทร์ ไปเรื่อยๆโดยไม่ต้องเร่งรีบ นอกจากวัดวาอาราม และของกินเจ้าเก่าแสนอร่อยแล้ว เรามักจะมีโอกาสได้เจอขุมทรัพย์ด้านสถาปัตยกรรม และการอนุรักษ์ ซ่อนตัวอยู่ตามชุมชนเก่าต่างๆ เฉกเช่นเดียวกับ “บ้านขนมปังขิง” เรือนไทยอายุกว่าศตวรรษ ในย่านเสาชิงช้าที่บูรณะแล้วดัดแปลงมาเป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์
เมื่อเดินลัดเลาะไปที่ซอยหลังโบสถ์พราหมณ์ ถนนดินสอ เรือนไทยหลังโตขนาดสองชั้น ใต้เงาแมกไม้ต้นมะม่วงอันร่มรื่น มีกำแพงที่สะดุดสายตาด้วยลวดลายฉลุไม้เป็นรั้วล้อมอยู่ เมื่อก้าวเข้าไปในขอบเขตรั้ว ตัวเรือนไทยสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Ginger Bread House ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งบ้านลักษณะนี้ โดดเด่นเรื่องลวดลายฉลุอันวิจิตร คล้ายขนมปังขิง หรือคุกกี้ที่ชาวตะวันตกทำกินในช่วงเทศกาลคริสต์มาส
เรือนไม้ลักษณะนี้เป็นที่แพร่หลายเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว เป็นที่นิยมในหมู่คหบดี ขุนนาง ชนชั้นกลาง แต่ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป บ้านหลายหลังก็ถูกรื้อถอนหรือขายทิ้ง “บ้านขนมปังขิง” แห่งย่านเสาชิงช้า จึงนับเป็นสถานที่ที่บุคคลทั่วไปมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสเข้าชมอย่างใกล้ชิด ทั้งยังปรับเปลี่ยนสถานะบ้านส่วนบุคคล มาเป็นร้านกาแฟ-ขนมไทยได้อย่างลงตัวเข้ากับยุคสมัย
ประวัติของบ้านหลังนี้ สร้างขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. 2456 (อายุประมาณ 106 ปี ในปัจุบัน) อำแดงหน่าย ซึ่งเป็นภรรยาของรองอำมาตย์โท “ขุนประเสริฐทะเบียน” (ขัน) ได้ซื้อที่ดินขนาด 47 ตารางวาจากหลวงบุรีพิทักษ์ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินท่านแรก หลังจากนั้น ขุนประเสริฐทะเบียน (ขัน) จึงได้สร้างบ้านในรูปแบบดังที่เห็นในปัจจุบัน โดดเด่นด้วยงานแกะสลักสถาปัตยกรรมที่นิยมในยุคนั้น พร้อมทั้งแทรกสัญลักษณ์ประจำตัวไว้ตามช่องลม หรือรั้วประตู เป็นตัวอักษร “ขั-น” ที่ตนเองเป็นผู้ออกแบบ
ต่อมาเมื่ออำแดงหน่ายถึงแก่กรรม บ้านถูกขายต่อให้กับลูกหลาน ผู้เป็นทายาทของท่านผู้หญิงเนื่องสนิท (บุตรีคนที่สองของขุนประเสริฐทะเบียน) นั่นคือ “ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช” ทันตแพทย์ประจำพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งท่านผู้หญิงเพ็ชรา มีเจตจำนงในการอนุรักษ์บ้านหลังนี้ไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาสถาปัตยกรรมสุดคลาสสิคที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ซึ่งในยุคเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนั้นเอง ที่บ้านหลังนี้ได้รับการกล่าวขานในชื่อ “บ้านขนมปังขิง” โดยป้ายแกะสลักชื่อบ้านที่ปรากฏเหนือธรณีประตูด้านหน้า เป็นผลงานเขียนและแกะสลักของคุณหมอสิทธิ์ เตชะกัมพุช สามีของท่านผู้หญิงเพ็ชราอีกด้วย ซึ่งในคราวนั้น บ้านได้รับการบูรณะเป็นครั้งแรก
สำหรับเมนูอร่อยภายในร้าน เมนูขนมไทยไฮไลท์ ต้องยกให้กับ “ชุดบัวทอง” ขนมไทยชุดใหญ่ ไอศกรีม เค้ก ชาร้อน (ราคา 599 บาท) เหมาะสำหรับสองท่าน แต่ถ้ากลัวจะกินไม่หมด ก็มีขนมชุดเล็กอย่างไอศกรีมใบเตย+บัวลอย , ตะโก้ยักษ์ + ไอศกรีม , ไอศกรีมกะทิ + ลอดช่อง , ไอศกรีมชาไทย + เฉาก๊วย หรือ เมนูล่าสุดอย่าง ไอศกรีมทุเรียน + บัวลอย
นอกจากนี้ยังมีเบเกอรีแบบตะวันตก เครื่องดื่มชา กาแฟ อิตาเลียนโซดา มากมายละลานตากว่าอีก 20 ชนิด ให้เลือกดื่มดับกระหาย