บ้านของพ่อ: จากผืนนารกร้างสู่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

บ้านแห่งการสร้างแรงบันดาลใจใน จ.อยุธยา

วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 คงเป็นวันที่ชาวอยุธยาจดจำได้ไม่ลืม หนึ่งในบทบันทึกประวัติศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพิธีสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ณ บริเวณทุ่งมะขามหย่อง

พสกนิกรชาวกรุงเก่าจำนวนมากเดินทางไปรวมตัวกันแบบมืดฟ้ามัวดินเพื่อเฝ้ารอรับเสด็จฯ คุณอัมรินทร์ เซ็นเสถียร ก็เป็นหนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์สำคัญวันนั้นในฐานะข้าราชการผู้จงรักภักดี ซึ่งทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านในตำบลภูเขาทอง

สิ่งหนึ่งที่เขายึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิตเสมอมา คือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และทุกวันนี้ก็มีโอกาสถ่ายทอดให้คนทั่วไป ผ่าน ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ‘บ้านของพ่อ’ สถานที่ท่องเที่ยวที่เปลี่ยนจากผืนนารกร้างมาเป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เมื่อก่อนตรงนี้เป็นที่นาว่างๆครับ แล้วเราปรับพื้นที่ นำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ ในการจัดสรร”

คุณอัมรินทร์ อธิบายให้เห็นภาพว่าเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ครึ่ง ถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ พื้นที่นาสำหรับการปลูกข้าว 30% พื้นที่น้ำ 30% ใช้สำหรับรดน้ำต้นไม้ เลี้ยงปลาทับทิม ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของไทย 30% ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ พืชสวนครัว ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ประดับให้กระจัดกระจายเป็นความสวยงามสร้างความร่มรื่น ส่วนที่เหลืออีก 10% แบ่งเป็นคอกสัตว์ เช่น ไก่ไข่ ไก่เนื้อ ไก่พันธุ์สวยงาม เลี้ยงแพะ เลี้ยงเป็ด รวมทั้งใช้เป็นที่อยู่อาศัยและร้านค้าเล็กๆ

ผู้ใหญ่บ้านแห่งตำบลภูเขาทองเล่าว่า พื้นฐานเดิมของเขาเติบโตมาในวิถีเกษตรกรรม จึงใช้พื้นที่ทำนาของครอบครัว สร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ “เมื่อตั้งใจจะสร้างศูนย์เรียนรู้ ผมกับภรรยามองว่าน่าจะทำการเกษตรอีกรูปแบบให้น่าสนใจ ส่วนพ่อตามีพื้นฐานเรื่องการทำปศุสัตว์ เมื่อเราพอมีทุนและมีพื้นฐานเกษตรกรรมกันทั้งสองครอบครัว จึงปรับปรุงพื้นที่ว่างๆให้เป็นการเกษตรที่ให้ความรู้ และเป็นการนำกลับไปสู่เรื่องราวที่ผมคุ้นเคยในวัยเด็ก” ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ‘บ้านของพ่อ’ เปิดอย่างเป็นทางการ วันที่ 20 เมษายน 2560 โดยคุณอัมรินทร์ รับผิดชอบในฐานะประธานศูนย์ฯ พื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ที่ตกแต่งแบ่งสัดส่วนเป็นภูมิทัศน์อันสวยงามราวกับเป็นสวนสาธารณะ นับเป็นความคิดของคนในครอบครัว อาศัยเพียงเรี่ยวแรงคนในครอบครัวและคนในชุมชนช่วยกันแบ่งหน้าที่ดูแลได้ 

บ้านของพ่อ ยังนับเป็นพื้นที่แห่งสองวัฒนธรรม ครอบครัวของคุณอัมรินทร์เป็นชาวมุสลิม แต่ถัดไปไม่กี่ร้อยเมตร เป็นพื้นที่วัดภูเขาทอง ซึ่งให้ความอนุเคราะห์เรื่องสถานที่จอดรถแก่ผู้มาเยือน “เราอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนในสองวัฒนธรรม บ้านของพ่อ จึงเสมือนเป็นบ้านของชุมชน” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงภูมิใจ ตลอดระยะกว่าขวบปีที่เปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ ผู้ใหญ่บ้านรายนี้มองเห็นเด็กและเยาวชนที่เข้ามาได้รับความคิด แรงบันดาลใจกลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน สอดแทรกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีชีวิตชุมชน 

“ผมคิดว่าการเกษตรไม่ใช่สิ่งล้าสมัยนะ แต่เอามาปรับให้เข้ากับยุคสมัยที่เราเรียนรู้แล้วนำไปปรับใช้ในชีวิตได้”

นอกจากสถานที่ที่ได้สานต่อแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้ว คุณอัมรินทร์บอกว่าที่นี่เสมือนการนำได้หลักการทรงงานของพระองค์มาปรับใช้ เริ่มต้นด้วยการไม่ได้แสวงหากำไร ซึ่งช่วงแรกๆก็ขาดทุน แต่เขายอมรับได้ เพราะอยากสืบสานและถ่ายทอดเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เป็นที่รู้จักให้คนรุ่นใหม่ๆได้เรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ทำได้จริงๆ

“วลีที่ว่า ขาดทุน คือ กำไร นั้นเป็นจริง เราขาดทุนในตอนแรก แต่กำไรที่ได้ คือ เด็กและเยาวชนได้รับประโยชน์กลับไป ส่วนนี้เป็นกำไรที่ผมไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเงิน เป็นความภาคภูมิใจที่บ้านหลังเล็กๆของเราได้มอบให้แก่ผู้ที่เดินทางมาที่นี่”

หน่วยงานหรือสถานศึกษาใดที่มีความประสงค์จะเข้าศึกษาดูงานหรือทำกิจกรรมร่วมกับศูนย์
ติดต่อโดยตรง โทร.098-9657998, 081- 8176037

You May Also Like