หน้าบันช่างสกุลน่าน
ใครไปเยือนวัดพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองน่าน และเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตร “เถาะ” (กระต่าย) ตามความเชื่อของล้านนา อย่าลืมแวะไปชื่มชม “พระวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง” ที่อยู่ติดกับองค์พระธาตุ ซึ่งนอกจากมีสิงห์ปูนปั้นสถาปัตยกรรมเมียนมาอันงดงามประดับตรงทางเข้าแล้ว “หน้าบันของพระวิหาร” เป็นปูนปั้นลวดลายพญานาคเกี้ยวกวัดรัดกันจำนวน 8 ตัว เรียกว่า อัฏฐพญานาค
ศิลปะนี้นับเป็นเอกลักษณ์ของช่างสกุลน่านที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน
ครุฑไม้แห่งความภักดี
หน้าบันของพระวิหารในวัดพระธาตุช้างค้ำ มีความเด่นสะดุดตาด้วยเป็นรูปแกะสลักครุฑไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์จักรี อันเป็นการถวายความจงรักภักดีของเจ้าเมืองน่าน ซึ่งพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ สร้างอุทิศถวายแด่รัชกาลที่ 5
จารึกอักษรย่อว่า “พ จ น พ ร ช ก ศ ถ พ พ ธ จ ล ฯ” หมายถึง “พระเจ้าน่านพระราชกุศลถวายพระพุทธเจ้าหลวงฯ”
พระพุทธรูปเมียนมากับพระศรีอาริย์นั่งพับเพียบ
วัดสวนตาล มีสิ่งห้ามพลาดซ่อนอยู่มากมาย ที่โรงเรียนปริยัติธรรมในบริเวณวัด ได้มีการหล่อพระเจ้าม่าน พระพุทธรูปศิลปะเมียนมา เพื่อสืบสานประวัติศาสตร์ในอดีตเมียนมาเข้ามาปกครองระยะหนึ่ง จึงมีศิลปวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านผสมผสานอยู่ด้วย
นอกจากนี้ในวิหารเล็กมีพระพุทธศรีอาริยเมตไตรยนั่งพับเพียบที่พบได้เพียงแห่งเดียวในไทย
ธนบัตร ๑ บาท กับจิตรกรรมปริศนา
ไปเยือนวัดภูมินทร์แล้วแวะไปซื้อ ธนบัตร ๑ บาท (จำลอง) ที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 8 ซึ่งปรากฏพระอุโบสถวัดอยู่บนธนบัตร ส่วนใครอยากได้ธนบัตรจริง ก็ยังพอมีขายในราคาหลักพัน
วิหารแปลกของพระสังกัจจายน์
วิหารปูนปั้นวิจิตรสีทองอร่ามของวัดศรีพันต้น ทำให้หลายคนตรงดิ่งไปเก็บภาพ แต่ภายในวัดมีวิหารเล็กๆที่มีความแปลกซึ่งประดิษฐานพระสังกัจจายนะเถระ ซึ่งเดิมพระสังกัจจายนะเถระ เป็นพระประธานตรงหน้าพระเจดีย์ (ด้านนอกวิหาร) คาดว่าเกิดความเข้าใจผิดของช่าง ที่ไปสร้างวิหารครอบทับไว้ภายหลัง ทำให้พระประธานในวิหารแห่งนี้ จึงมีลักษณะกลายเป็นนั่งประทับหันข้าง