แสงแรกของทะเลสาบบริเวณคลองปากประเอาแน่เอานอนไม่ได้นัก บางวันค่อยๆเฉิดฉายฉาบริ้วสีทองลงบนผืนฟ้าสีคราม แต่บางวันก็เอียงอายเร้นกายอยู่หลังกลุ่มเมฆหม่นๆ ส่งเพียงความสว่างปนฟ้าเทาๆแล้วจู่ๆก็เปลี่ยนเป็นสว่างจ้าปุบปับราวกับเปิดสวิตช์ไฟ แต่ถึงสภาพอากาศจะคาดเดาได้ยาก ยามเช้าของปากคลองปากประก็ยังเป็นช่วงเวลาทอง ที่ไม่เคยว่างเว้นจากนักท่องเที่ยวผู้โหยหาของขวัญจากธรรมชาติ
นักเดินทางขาจรซึ่งมาที่นี่ครั้งแรกมักล่องเรือออกมาแต่เช้าตรู่ และหอบหิ้วความหวังที่จะได้ภาพวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์อย่างการยกยอ อันหมายถึงยอจับปลาขนาดยักษ์ที่มีลักษณะไม้ไผ่ยาวแผ่กว้างออกเป็น 4 แฉก อยู่บนโครงไม้คล้ายนั่งร้านเรียงรายอยู่เหนือผิวน้ำ กลายเป็นทิวทัศน์คล้ายจิตรกรรมลายเส้นขีดเขียนไว้กลางทะเล ยอเหล่านี้สร้างไว้เพื่อใช้หาปลาลูกเบร่ สายพันธุ์เดียวกับปลาไส้ตันหรือปลากะตัก บางครั้งก็อาจได้ปลาชนิดอื่นติดมาบ้าง และนับเป็นระยะเวลาประมาณ 40 ปีแล้วที่คลองปากประเริ่มมีการใช้ยอ วิถีประมงรูปแบบพอเพียงไม่ทำลายธรรมชาติ เพราะแค่วางยอลงไปในน้ำรอให้ปลาว่ายเข้ามาเองแล้วก็ยกขึ้น มีข้อห้ามเดียว คือ อย่าสร้างขวางทางน้ำ แม้ว่าในวันนี้วิถีประมงพื้นบ้านเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างเห็นผล แต่การยกยอ เป็นเพียงเครื่องเคียงเท่านั้น เมื่อเทียบกับเมนูหลักของการท่องเที่ยวในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (เขตจังหวัดพัทลุง)
ย้อนไปราว 20 ปีก่อน พื้นที่ชุ่มน้ำอันสมบูรณ์ทางระบบนิเวศที่เรียกว่า พรุควนขี้เสียน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ของอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้รับการประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) แห่งแรกของไทย ความหมายของการเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นวันนั้นส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อแนวทางการอนุรักษ์ถูกสานต่อโดยคนท้องถิ่นที่เข้ามาแผ้วถางกิจการด้านท่องเที่ยว สุภเศรษฐ โอภิธากรณ์ ยังคงใช้เวลาในวันว่างๆ แบกอุปกรณ์ถ่ายภาพลงเรือหางยาวล่องออกไปสู่ผืนน้ำกว้างใหญ่ สถานะความเป็นนักธุรกิจเจ้าของ “Wetland Camp” ที่พักรุ่นบุกเบิกในพื้นที่คลองปากประ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงกิจวัตรสุดโปรดที่ทำมาตลอดตั้งแต่วัยเด็ก “ผมเป็นคนชอบดูนกครับ รุ่นพี่คนบ้านเดียวกันให้กล้องส่องนกยี่ห้อ Minolta มาตัวนึง กลายเป็นอุปกรณ์เปลี่ยนชีวิตไปเลย” ชีวิตวัยมหาวิทยาลัยและวัยทำงานช่วงแรกขีดเส้นทางให้ต้องเลือกออกไปไกลจากถิ่นฐานเดิม จนกระทั่งผู้หลงใหลในปักษีวิทยาเริ่มมองชีวิตที่อยากจะทำอะไรในพื้นที่ของตัวเอง และนึกหวนกลับมาคิดถึงวัยเด็กที่เคยเดินเท้าเข้าป่าพรุระยะทางเป็นกิโลเพื่อไปดูนก เขาจึงตัดสินใจย้ายกลับบ้านเกิด
“ผมเลยซื้อที่นี่ไว้เพราะป่าสมบูรณ์ มีนกเยอะ” เขาบอกแบบไม่คิดมาก อาณาเขตกว้างใหญ่ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งรวมสายพันธุ์นกมากมายประมาณ 187 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพในช่วงฤดูหนาว อันมาจากความอุดมสมบูรณ์ของทุ่งหญ้าลาโพ (หญ้าแขม) และป่าพรุเสม็ดขาว ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังแรกของนกนานาชนิดได้ฟูมฟักหลบลมหลบฝนและสัตว์นักล่า ก่อนจะโบยบินออกมาทักทายโลกกว้าง
ความตั้งใจของสุภเศรษฐ หวังให้ Wetland Camp เป็นที่พักรูปแบบคล้ายโฮมสเตย์ ขายภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเงียบสงบ และความสมบูรณ์ของธรรมชาติ
“กฎของผมง่ายๆ คือ ถ้าจะล่องเรือท่องเที่ยว ต้องมาเจอกัน 6 โมงเช้า” หากใครหลงใหลเรื่องนก เรือลำน้อยก็ลัดเลาะเข้าไปตามพรุหญ้าที่เหล่านกแอ่นทุ่งนับร้อยบนเนินดินกระพือปีกบินหนีเมื่อเรือเข้าไปในระยะสายตา ต่างจากเจ้านกตีนเทียน ขาสีแดงสดที่ยังจดๆจ้องๆมองหาอะไรสักอย่างในมื้อเช้า และไม่ค่อยยี่หระกับเรือนักท่องเที่ยวสักเท่าไหร่
สำหรับใครไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา เรือจะล่องชมความสมบูรณ์ต่อเนื่องเข้าไปในพื้นที่อุทยานทะเลน้อย แหล่งชมนกน้ำ และดอกบัวนับหมื่นที่พร้อมใจกันบานสะพรั่งในช่วงต้นฤดูฝน “พื้นที่บริเวณคลองปากประ เป็นธุรกิจชาวควนขนุน 100% มาทำกิจการที่พักร้านอาหาร มีห้องพักทุกแห่งรวมกัน แค่ประมาณ 50 ห้อง ไม่มีนายทุนมาสร้างโรงแรมใหญ่โต เราเน้นการท่องเที่ยวที่สามารถดูแลและควบคุมกันได้ เพราะทุกคนรู้จักกัน”
“เมื่อการท่องเที่ยวบริเวณนี้เกิดมาจากการอนุรักษ์ หัวใจของชุมชนก็อยู่ตรงนี้” เขาบอกพร้อมๆกับเสียงชัตเตอร์ดังระรัวเมื่อนกปากห่างตัวเขื่องเพิ่งบินผ่านหน้าไป
นักเดินทางขาจรซึ่งมาที่นี่ครั้งแรกมักล่องเรือออกมาแต่เช้าตรู่ และหอบหิ้วความหวังที่จะได้ภาพวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์อย่างการยกยอ อันหมายถึงยอจับปลาขนาดยักษ์ที่มีลักษณะไม้ไผ่ยาวแผ่กว้างออกเป็น 4 แฉก อยู่บนโครงไม้คล้ายนั่งร้านเรียงรายอยู่เหนือผิวน้ำ กลายเป็นทิวทัศน์คล้ายจิตรกรรมลายเส้นขีดเขียนไว้กลางทะเล
ย้อนไปราว 20 ปีก่อน พื้นที่ชุ่มน้ำอันสมบูรณ์ทางระบบนิเวศที่เรียกว่า พรุควนขี้เสียน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ของอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้รับการประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) แห่งแรกของไทย ความหมายของการเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นวันนั้นส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อแนวทางการอนุรักษ์ถูกสานต่อโดยคนท้องถิ่นที่เข้ามาแผ้วถางกิจการด้านท่องเที่ยว
“ผมเลยซื้อที่นี่ไว้เพราะป่าสมบูรณ์ มีนกเยอะ” เขาบอกแบบไม่คิดมาก
ความตั้งใจของสุภเศรษฐ หวังให้ Wetland Camp เป็นที่พักรูปแบบคล้ายโฮมสเตย์ ขายภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเงียบสงบ และความสมบูรณ์ของธรรมชาติ
“กฎของผมง่ายๆ คือ ถ้าจะล่องเรือท่องเที่ยว ต้องมาเจอกัน 6 โมงเช้า”
สำหรับใครไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา เรือจะล่องชมความสมบูรณ์ต่อเนื่องเข้าไปในพื้นที่อุทยานทะเลน้อย แหล่งชมนกน้ำ และดอกบัวนับหมื่นที่พร้อมใจกันบานสะพรั่งในช่วงต้นฤดูฝน
“เมื่อการท่องเที่ยวบริเวณนี้เกิดมาจากการอนุรักษ์ หัวใจของชุมชนก็อยู่ตรงนี้” เขาบอกพร้อมๆกับเสียงชัตเตอร์ดังระรัวเมื่อนกปากห่างตัวเขื่องเพิ่งบินผ่านหน้าไป