เกาะยาวน้อย เสน่ห์ในวิถีการทำนาของชาวเกาะ

เรียนรู้การทำนาบนเกาะยาวน้อย
ย่างเข้าสู่เดือนกันยายน เมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาแห่งเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา เคยโปรยหว่านบนผืนดิน บางส่วนเปลี่ยนแปลงกลายสภาพเป็นท้องทุ่งสีเขียวสดที่ขยับเคลื่อนไหวไปตามจังหวะสายลมริมชายฝั่ง แต่ในขณะเดียวกัน บางแปลงก็เพิ่งเริ่มต้นสำหรับขั้นตอนแรกๆ สังเกตได้จากเหล่าชาวนาที่กำลังขะมักเขม้น อยู่กับการซ่อมแซมต้นกล้า ก่อนจะปักดำลงไปใหม่อีกครั้ง

วิถีชีวิตที่น่าสนใจของชาวเกาะลูกน้ำเค็มผู้เชี่ยวชาญด้านการประมง ที่ต้องแบ่งเวลามาทำนาด้วยนั้น ถือเป็นกิจกรรมเที่ยวรอบเกาะของชมรมการท่องเที่ยวฯ ที่ผู้มาเยือนจะได้เรียนรู้ แต่การทำนาบนเกาะยาวน้อย ไม่ใช่ลักษณะแปลงนาสาธิตเพื่อการท่องเที่ยว หากเป็นท้องนาตามฤดูกาลจริง ดังนั้นจึงมีให้ชมเฉพาะช่วงเดือน กรกฎาคมไปจนถึงปลายปี การประยุกต์โปรแกรมกิจกรรมการท่องเที่ยวเข้ากับวิถีแห่งท้องทุ่งสีเขียว จะขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือน ถ้ามาในช่วงไถนา อาจมีโอกาสได้ลองไถนาด้วยเครื่องยนต์ มาในช่วงดำนา ก็มีโอกาสได้ลงไปย่ำเท้าบนผืนนาเพื่อปักดำต้นกล้า โดยกิจกรรมที่ยอดนิยมที่สุด จะตรงกับช่วงไฮซีซั่นพอดี นั่นคือ การเกี่ยวข้าว เพราะไม่เหนื่อยมาก และไม่เลอะเปรอะเปื้อนโคลน  ความพิเศษของการทำนาที่อยู่ใกล้ทะเล โดยมีเพียงถนนคอนกรีตเส้นเล็กๆคั่นกลาง คือ บริเวณทุ่งนาบนเกาะยาวน้อย เป็นพื้นที่ที่มีตาน้ำหลายจุด หากถึงฤดูฝน จึงมีน้ำจืดจากตาน้ำ ผุดขึ้นมาเจือจางความเค็ม ประกอบกับสภาพดินเหนียวปนดินร่วน ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำทะเลซึมผ่านเข้ามาได้ง่ายๆ 

บนเกาะยาวน้อยไม่มีระบบชลประทาน ชาวบ้านจึงทำนาปีละครั้ง โดยอาศัยน้ำฝน หรือแหล่งน้ำจากธรรมชาติ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า น้ำตาผุด โดยการทำนาของชาวเกาะ จะสังเกตระดับน้ำในนา ว่ามีความเหมาะสมไม่แห้งเกินไป ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นการไถ และหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในเดือนกรกฎาคม ที่มีฝนตกชุก ผ่านมาถึงเดือนกันยายน ก็จะมีการซ่อมข้าว ซึ่งหมายถึงการดูแลรักษาต้นกล้าที่ขาด หรือเสียหายจากศัตรูพืช โดยนำต้นกล้าใหม่มาปลูกทดแทน จนกระทั่งเมื่อล่วงเข้าสู่ช่วงเดือนพฤศจิกายน เมล็ดข้าวพันธุ์ปทุมธานี-พันธุ์อยุธยา ก็เปลี่ยนเป็นสีเขียวขจีไปทั่วทั้งท้องทุ่ง ก่อนจะค่อยๆกลายเป็นสีเหลืองทองในระยะเวลาอีกไม่นาน ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวไปได้เรื่อยๆไม่เกินเดือนธันวาคมก็สิ้นสุดการทำงาน …เฝ้ารอเวลาการทำนาครั้งใหม่ในปีถัดไป แม้ในยุคปัจจุบัน ชาวนาบนเกาะยาวน้อยใช้เครื่องจักรในการทุ่นแรงและประหยัดเวลากันทั้งหมดแล้ว แต่สัตว์สี่ขาคู่ทุ่งนาของเมืองไทย ยังคงความสำคัญอยู่เสมอ ควายที่เลี้ยงไว้เพื่อให้กินหญ้าในทุ่งนา ชาวนาก็ไม่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช มูลควายกลายเป็นปุ๋ยที่ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ โดยหลังจากการเก็บเกี่ยว หรือแปลงนาไหนที่ยังว่าง ชาวบ้านจะปล่อยฝูงควายให้เข้าไปช่วยดูแลไม่ให้มีหญ้าขึ้นรก ชาวเกาะยาวน้อย ทำนาเพื่อการบริโภคเองเป็นหลัก ถ้าเหลือก็ขายกันบนเกาะในราคาถูก ความคุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจจึงไม่ใช่คำตอบที่สำคัญ

“คำตอบที่ชาวบ้านพูดกัน คือ ถ้าวันหนึ่งเจ็บป่วยไม่สบาย หรือไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้ แต่ถ้ายังมีข้าวกิน ก็ยังใช้ชีวิตอยู่ได้ ไปเก็บยอดผักยอดไม้ ออกไปจับปลาในทะเลมาเพิ่ม ก็มีอาหารรอบตัว โดยที่เงินไม่ใช้สิ่งสำคัญที่สุด”

You May Also Like