แม้ผืนทรายละเอียดสีขาวราวกับแป้งฝุ่นริมชายหาด ร้อนระอุจากเปลวแดดระยับยามเที่ยงวัน ซึ่งสาดปริมาณแสงมาแบบไม่ลดละไร้เครื่องกีดกั้น แต่ก็ยังเป็นการยากเกินหักห้ามใจที่จะไม่ลองก้าวไปเหยียบย่ำ ฝากรอยเท้าบนทรายร้อนๆนุ่มหยุ่นที่คลอเคลียอยู่กับเกลียวคลื่นใส
เรือประมงหางยาวแบบพื้นบ้านที่เรียกว่า เรือหัวโทงของ ‘เกษม นิลสมุทร’ หรือ ‘บังหนีด’ แวะจอดพักชั่วครู่บนเนินทราย ‘แหลมหาด’ ของเกาะยาวใหญ่ เพื่อเป็นโปรแกรมพิเศษเล็กๆน้อยๆให้นักท่องเที่ยว ได้อิ่มเอมสัมผัสความงามราวสวรรค์บนผืนดิน ก่อนจะแล่นเรือข้ามกลับมาบริเวณหาดแหลมไทรของเกาะยาวน้อย เพื่อชมการเลี้ยงปลาในกระชัง หนึ่งในโปรแกรมไฮไลท์การท่องเที่ยวสไตล์โฮมสเตย์ของเกาะยาวน้อย
ก่อนอธิบายรายละเอียดในแง่มุมต่างๆ ของการทำกระชังปลาว่า ทำเลในการเลี้ยงปลาในกระชังชายฝั่ง ควรห่างจากฝั่งประมาณ 300 เมตร หรือ ยึดหลักว่า ในช่วงน้ำลดเต็มที่แล้ว ยังต้องมีระดับความลึกของน้ำ อย่างน้อย 1 เมตร เพื่อไม่ให้น้ำมีอุณหภูมิสูงเกินไป ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้ไม่ค่อยกินอาหาร
หลังจากทำกระชังปลามาได้ระยะหนึ่ง ชาวเกาะยาว ก็เริ่มเติมความหลากหลาย มาเป็นการเลี้ยงกุ้งมังกรด้วย โดยสมัยก่อนชาวบ้านมักจับกุ้งมังกรจากทะเลมาขาย ไม่เคยมีใครเลี้ยงเพื่อขาย แต่ด้วยความบังเอิญจากวิถีชีวิตประจำวัน ก็ทำให้บังหนีดเริ่มต้นทำในสิ่งที่ขณะนั้นหลายๆคนยังไม่รู้ “ในทุกๆวันของชีวิตชาวประมง เราก็วางอวนดักปูไปตามปกติ ปรากฏว่าติดกุ้งมังกรตัวเล็กๆ เป็นตัวนิ่มๆที่เพิ่งลอกคราบ ซึ่งไม่สามารถขายได้ ผมจึงเอามาอนุบาลไว้ในกระชัง เมื่อไปเก็บอวนดักปู ก็เจอกุ้งมังกรลักษณะนี้อีก จึงโยนใส่เลี้ยงไว้ในกระชังไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผ่านไปราว 4 เดือน กุ้งลอกคราบที่มีขนาดเล็ก ก็กลายเป็นกุ้งมังกรขนาดใหญ่ ผมจึงรู้ว่าเราสามารถเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชังได้”
“ผมก็เป็นชาวประมงรายแรกๆบนเกาะยาวที่ทำกระชังกุ้งมังกร ซึ่งการเลี้ยงนั้นง่ายกว่าปลา เพราะหอยตัวเล็กๆที่ชอบมาเกาะตาข่าย นับเป็นอาหารโปรดของกุ้งมังกร กระชังกุ้งจึงแทบไม่มีปัญหา เรื่องหอยตัวเล็กๆมาก่อกวนระบบการถ่ายเทน้ำ” บังหนีดเล่าไปพร้อมกับการจับกุ้งมังกรพันธุ์ 7 สี ตัวเขื่องขึ้นมาอวดให้ชม ซึ่งราคาค่าตัวของมันในท้องตลาดปัจจุบัน ไม่ต่ำกว่า 2,600 บาท ต่อกิโลกรัม
บังหนีด อธิบายความต่างระหว่างการออกเรือไปหาปลากับการทำประมงแบบกระชังปลาว่า กระชังปลานั้นเปรียบเหมือนกระปุกออมสิน “เราออกทะเลไปหาปูหาปลา หามาได้ก็ขายไปทันที พอขายหมดได้เงินมาทันที แต่สำหรับการทำกระชังปลาเป็นการเลี้ยงสะสมเอาไว้ เหมือนเป็นเงินเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐก็เข้ามาส่งเสริมช่วยวิจัยตัวอย่างน้ำ ดูแลป้องกันเรื่องโรคระบาด หรือกรมประมงก็เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา เช่น ปลาเก๋า ปลาช่อนทะเล ปลามง ปลากระพงขาว มาให้ชาวประมงซื้อไปเลี้ยงเพื่อจำหน่ายต่อไป”
“เมื่อสึนามิทำลายทุกสิ่ง ผมจึงยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าสิ่งดีๆที่เรามีอยู่ก็ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงต่อยอดจากการทำกระชังปลาเพื่อเลี้ยงชีพ มาผนวกให้เป็น เรื่องการท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชุมชน เปิดโอกาสให้คนภายนอกได้มาเห็นสมบัติที่เราสะสมไว้ในท้องทะเล”
การนั่งเรือไปชมกระชังปลา รวมอยู่ในโปรแกรมการท่องเที่ยวของชมรมฯ แต่หากต้องการท่องเที่ยวเกาะอื่นๆในบริวาร จะมีค่าใช้จ่ายต่างหาก
เรือโดยสารจากภูเก็ต ได้แก่ ท่าเรือบางโรง อ.ถลาง มาถึง เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ท่าเรือแหลมหิน ท่าเรือรัษฎา อ.เมือง มาถึงเกาะยาวใหญ่ , เรือโดยสารจากพังงา ท่าด่านเรือศุลกากร มาถึงเกาะยาวน้อย , เรือโดยสารจากกระบี่ ท่าเรือท่าเลน มาถึงเกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ (ทั้งนี้ การเดินทางไปมาระหว่างเกาะยาวน้อยกับเกาะยาวใหญ่ มีเรือโดยสารท้องถิ่นตั้งแต่เช้าจรดเย็น)
Getting around
การเดินทางบนเกาะยาวน้อย มีรถสองแถวให้บริการ ราคา 20-100 บาท แล้วแต่ระยะทาง นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเช่ามอเตอร์ไซค์ หรือจักรยานได้จากร้านค้าใกล้ที่พัก หรือติดต่อผ่านโฮมสเตย์ ราคาประมาณ 200 บาท/วัน (ข้อควรรู้ คือ ราคาน้ำมันบนเกาะ แพงกว่าราคาปกติ)