น้ำทะเลที่เหือดหายไปจากอ่าวท่าเลน จังหวัดกระบี่ นับเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นตามปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม ในบางวันก่อนที่แสงสุดท้ายจะอำลาไป สายน้ำนั้นลดระดับลง เผยให้เห็นความลับของพื้นผิวใต้ทะเลอย่างไม่ปิดบัง มองเห็นเนินทรายสีโคลนกว้างไกลไปจรดเขาหินปูน เมื่อมองไปยังผืนทรายกว้างที่อาบแสงอาทิตย์ยามเย็น มีความเคลื่อนไหวจากชาวบ้านในท้องถิ่น กำลังขะมักเขม้นเฟ้นหาทรัพยากรที่ได้มาจากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ หนึ่งในนั้น คือ “หอยชักตีน” หรือ หอยสังข์กระโดด สัตว์พื้นถิ่นซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของกระบี่ (แต่หอยชนิดนี้ ก็หาได้ตามแถบภาคใต้ฝั่งอันดามันจังหวัดอื่นๆด้วย)
ภายใต้ทรายสีโคลนนุ่มหยุ่นเท้าที่ย่างเหยียบ ‘บังบ่าว’ หนุ่มร่างใหญ่แห่งหมู่บ้านอ่าวท่าเลน หิ้วถังพลาสติกขนาดกระทัดรัด เดินก้าวไปตามผืนทรายอย่างคล่องแคล่ว ปรายสายตามองลงไป บนพื้นทรายที่ดูคล้ายว่างเปล่า แต่ทว่าไม่กี่อึดใจ บังบ่าวก็ใช้มือขุดคุ้ยหยิบสิ่งมีชีวิตใต้ผืนทรายขึ้นมา “ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นรอยทรายใหม่ๆที่บุ๋มลงไปเป็นแนวทางเดิน มองไปให้สุดทาง หอยชักตีนมันก็อยู่ตรงนั้นล่ะ” บังบ่าว เปิดเผยเคล็ดลับง่ายๆในการหาหอยท้องถิ่นให้ฟัง พร้อมทั้งเล่ารายละเอียด เพิ่มเติมว่า เวลากินหอยชนิดนี้ต้องดึงเท้าที่คล้ายหางโผล่ออกมาจากเปลือก จึงเป็นที่มาของชื่อ ที่ฟังแล้ว เข้าใจได้อย่างปรุโปร่ง
“หอยชักตีน มีทั่วไปในทะเลอันดามัน ส่วนในกระบี่มีที่อ่าวท่าเลนจำนวนมาก วันนึง ผมเก็บมาได้ราว 3-4 กิโล มันอาศัยอยู่ตามหญ้าทะเล เมื่อถึงเวลาน้ำลงเมื่อไหร่ ชาวบ้านก็มาเดินหาได้ทุกวัน ยกเว้นช่วงมรสุม ที่อาจมีปริมาณน้อยไปบ้าง
แม้ปัจจุบันมีหอยชักตีนที่เลี้ยงในฟาร์ม แต่รสชาติจะแตกต่างกับหอยตามธรรมชาติ ที่ได้อยู่กับขี้เลนขี้โคลน ซึ่งมีแร่ธาตุหรืออาหารอุดมสมบูรณ์กว่า” บังบ่าว อธิบาย โดยไม่ลืมย้ำว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ปริมาณหอยในทะเลมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต รวมถึงหลักในการเก็บหอยจากธรรมชาติ ก็ไม่ควรเลือกตัวที่ยังมีขนาดเล็กเกินไป ถัดจากนี้ การเดินทางของหอยชักตีนก่อนไปสู่โต๊ะอาหาร ต้องผ่านการแช่น้ำอีกประมาณ 2 คืน เพื่อให้หอยคายทรายที่อยู่ในเปลือกออกมา แล้วนำไปผ่านกระบวนการต้มปรุงให้สุก กินกับน้ำจิ้มซีฟู้ด โดยไม่จำเป็นต้องมีอะไรซับซ้อนไปกว่านั้น เราก็ได้รับรู้ความเหนียวหนุบกรุบกรึบในปากได้อย่างสมบูรณ์
ภายใต้ทรายสีโคลนนุ่มหยุ่นเท้าที่ย่างเหยียบ ‘บังบ่าว’ หนุ่มร่างใหญ่แห่งหมู่บ้านอ่าวท่าเลน หิ้วถังพลาสติกขนาดกระทัดรัด เดินก้าวไปตามผืนทรายอย่างคล่องแคล่ว ปรายสายตามองลงไป บนพื้นทรายที่ดูคล้ายว่างเปล่า แต่ทว่าไม่กี่อึดใจ บังบ่าวก็ใช้มือขุดคุ้ยหยิบสิ่งมีชีวิตใต้ผืนทรายขึ้นมา
แม้ปัจจุบันมีหอยชักตีนที่เลี้ยงในฟาร์ม แต่รสชาติจะแตกต่างกับหอยตามธรรมชาติ ที่ได้อยู่กับขี้เลนขี้โคลน ซึ่งมีแร่ธาตุหรืออาหารอุดมสมบูรณ์กว่า” บังบ่าว อธิบาย โดยไม่ลืมย้ำว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ปริมาณหอยในทะเลมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต รวมถึงหลักในการเก็บหอยจากธรรมชาติ ก็ไม่ควรเลือกตัวที่ยังมีขนาดเล็กเกินไป