บนดอยผาผึ้งที่มีก้อนหินสีเทาห่มคลุมด้วยตะไคร้ป่ามีกลุ่มหมอกหนาลอยเคลื่อนเข้ามาประชิดตลอดแนวผาและไม่มีทีท่าว่าจะสลายตัวไปง่ายๆแม้ดวงอาทิตย์จะลอยโด่งขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ว่าหมอกทึบจนมองไม่เห็นทิวเขาเบื้องล่างทั้งหมดได้ กระนั้นยอดดอยที่สูงกว่า 1,600 เมตร ในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ ก็ยังคงความยิ่งใหญ่ชวนให้รู้สึกน่าตื่นตาตื่นใจอยู่ดี ย้ำให้รู้สึกว่าการเดินทางจากตัวเมืองน่านกว่าร้อยกิโลเมตร มาสู่อำเภอทุ่งช้าง ผ่านถนนคดเคี้ยวไต่ระดับความสูงขึ้นมากว่าพันเมตรเหนือระดับน้ำทะเลก็นับว่าคุ้มเหนื่อย
ความพิเศษของหมู่บ้านที่เป็นถิ่นฐานอาศัยของชาวม้งกับชาวลัวะ ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกสายพันธุ์กาแฟชั้นดี ซึ่งไม่ใช่แค่ดีแบบธรรมดาๆ แต่เป็นความดีเลิศในระดับโลก
ย้อนกลับไปในอดีต ดอยแห่งนี้ชาวม้งอพยพจากประเทศจีน เรียกขานกันว่าหมู่บ้านฉงผ้า หรือฉงไผ่ จนกระทั่งการสู้รบในยุคต่างอุดมการณ์สิ้นสุดลง นายทหารนามว่า พันโทอนัน พฤกษ์ กับ นายตำรวจชื่อมณี ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งเป็นผู้นำในการปราบปรามคอมมิวนิสต์จึงถูกนำมาใช้เป็นชื่ออย่างเป็นทางการ และเมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่านมาถึงปัจจุบัน หมู่บ้านมณีพฤกษ์ก็ปราศจากกลิ่นควันปืน มีเพียงกลิ่นกาแฟหอมกรุ่นรอให้ผู้มาเยือนได้ลิ้มรส วิชัย กำเนิดมงคล ประธานกลุ่มกาแฟ เดอะม้ง มณีพฤกษ์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นการปลูกกาแฟหมู่บ้านมณีพฤกษ์ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่เริ่มแรกนั้นเป็นลักษณะการปลูกกาแฟเพื่ออนุรักษ์ป่าเป็นหลัก ยังไม่ได้เริ่มต้นปลูกในเชิงพาณิชย์ โดยสายพันธุ์แรกๆที่เจ้าหน้าที่นำมาให้ปลูก เช่น เชียงใหม่ 80 อาราบิก้าคาติมอร์
แม้ว่าทุกวันนี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านยังปลูกกาแฟเป็นส่วนน้อย แต่มีทิศทางพัฒนาดีขึ้นไปเรื่อยๆ สังเกตได้จากตอนนี้ในหมู่บ้านมีโรงคั่ว-เครื่องคั่วกาแฟของกลุ่มเกษตรกร มีสายพันธุ์กาแฟที่หลากหลายกว่าเดิม อาทิ จาวา เบอร์บอน และเกอิชา
“ผมพยายามสร้างแนวคิด คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนโดยใช้กาแฟเป็นต้นแนวทางทำให้ชาวบ้านเห็นว่าการปลูกกาแฟสามารถสร้างรายได้ไปพร้อมกับการปลูกป่า” เพราะกาแฟเป็นพืชที่ต้องการร่มเงาของไม้ใหญ่ พืชชนิดนี้จึงตอบโจทย์ตรงเป้าหมายกับโครงการพัฒนาฯ ส่วนการสร้างรายได้นั้น วิชัยบอกว่ามีลูกค้าร้านกาแฟในเมืองน่านรับซื้อประจำ ภายใต้แบรนด์ Coffee De Hmong (กาแฟ เดอ ม้ง) รวมถึงมีนักท่องเที่ยวขาจรที่แวะเวียนขึ้นมาซื้อด้วยตัวเอง บุคคลสำคัญอีกคนผู้เปลี่ยนให้ชาวมณีพฤกษ์ตระหนักว่า กาแฟเป็นพืชมีมูลค่าสูงกว่าที่คาดคิด ต้องมอบความดีความชอบให้กับ เคเลบ จอร์แดน (Keleb Jordan) หนุ่มเชื้อสายอเมริกันหัวใจคนน่าน ที่ชาวบ้านให้การนับถือจนเรียกกันติดปากว่า อาจารย์เค
บรรพบุรุษของเคเลบ จอร์แดนเป็นมิชชันนารีอเมริกันผู้เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในซูดาน แล้วความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศในกาฬทวีป หรืออาจเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ก็นำพาให้ตระกูลของเขาเดินทางมายังสยามประเทศ และชีวิตใหม่ก็กำเนิดขึ้นที่อำเภอทุ่งช้าง จนกล่าวได้เต็มปากว่า หนุ่มเชื้อสายอเมริกันคนนี้ นับเป็นชาวน่านโดยกำเนิด “ผมขึ้นมาสำรวจหมู่บ้านราว 6 ปีก่อน ด้วยเรื่องศาสนา แล้วก็อยากช่วยเหลือชาวบ้านเรื่องคุณภาพชีวิต ว่าจะให้ทำการเกษตรอะไรในพื้นที่ได้บ้าง”
ด้วยพื้นฐานเคยไปฝึกงานที่โรงคั่วกาแฟในสหรัฐอเมริกา จึงมีโอกาสทำความรู้จักกับสายพันธุ์กาแฟชั้นดีจากทั่วโลก ผสมปนเปไปกับความทรงจำครั้งเยาว์วัย เมื่อเห็นพ่อต้องคั่วกาแฟกินเอง เพราะหารสชาติกาแฟที่ต้องการไม่ได้ “หมู่บ้านมณีพฤกษ์นี่ล่ะ น่าจะปลูกกาแฟได้”
เขาเริ่มต้นส่งอีเมลกว่าร้อยฉบับ เพื่อขอสายพันธุ์กาแฟที่ไร่ต่างๆทั่วโลก แทบทั้งหมดเป็นความผิดหวังไร้คำตอบ แต่ทว่าคำตอบหนึ่งเดียวที่ได้มานั้นคุ้มค่าเสียยิ่งกว่าอะไร เพราะเป็น ไร่ Hacienda La Esmeralda ในประเทศปานามา (ปัจจุบันมีชื่อเสียงมาก) ซึ่งเป็นไร่ที่นำกาแฟสายพันธุ์เกอิชา (Geisha) อันเป็นชื่อหมู่บ้านในเอธิโอเปียไปปลูกในดินแดนอเมริกาใต้ เมล็ดพันธุ์ราวครึ่งกิโลกรัมจากอีกซีกโลก ถูกส่งมายังจังหวัดน่าน แม้ว่าอุปสรรคของสภาพดินฟ้าอากาศและอุทกภัย จะทำให้เหลือรอดเพียงหลักสิบต้น แต่เมล็ดพันธุ์กาแฟเกรดเอในระดับโลก ก็หยั่งรากลึกลงบนผืนดอยมณีพฤกษ์ได้สำเร็จ และต่อยอด กลายสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ กินอาณาเขตไปหลายไร่ใต้เงาผืนป่าอันร่มรื่นที่หนุ่มอเมริกันคนนี้มีหน้าที่ดูแล “ถึงแม้การปลูกกาแฟต้องใช้เวลานาน แต่ก็ยั่งยืน ตอนนี้ผมก็มีแบรนด์กาแฟ Gem Forest ส่งขาย” เขาเล่าพลางมองเมล็ดกาแฟสีเขียวบนต้นที่รูปลักษณะใบเริ่มบ่งชี้การกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งเขานิยามว่า Syrina “ต่อไป Syrina อาจจะเป็นสายพันธุ์กาแฟที่โด่งดังก็ได้นะครับ และนั่นก็เป็นชื่อลูกสาวผมเองล่ะ” More Information
หมู่บ้านมณีพฤกษ์ ตั้งอยู่ในอำเภอทุ่งช้าง ห่างจากตัวเมืองน่านประมาณ 120 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
โดยปกติรถยนต์ทั่วไปขับไปถึงหมู่บ้านได้ ยกเว้นในฤดูฝน เส้นทางขึ้นไปสู่หมู่บ้านอาจมีสภาพไม่ดีนัก ควรสอบถามสภาพเส้นทางล่วงหน้าก่อนการเดินทาง
สอบถามเรื่องกาแฟ หรือการเดินทางไปหมู่บ้านมณีพฤกษ์ ติดต่อ คุณวิชัย โทร.06-2248-5018
ย้อนกลับไปในอดีต ดอยแห่งนี้ชาวม้งอพยพจากประเทศจีน เรียกขานกันว่าหมู่บ้านฉงผ้า หรือฉงไผ่ จนกระทั่งการสู้รบในยุคต่างอุดมการณ์สิ้นสุดลง นายทหารนามว่า พันโทอนัน พฤกษ์ กับ นายตำรวจชื่อมณี ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งเป็นผู้นำในการปราบปรามคอมมิวนิสต์จึงถูกนำมาใช้เป็นชื่ออย่างเป็นทางการ และเมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่านมาถึงปัจจุบัน หมู่บ้านมณีพฤกษ์ก็ปราศจากกลิ่นควันปืน มีเพียงกลิ่นกาแฟหอมกรุ่นรอให้ผู้มาเยือนได้ลิ้มรส
บรรพบุรุษของเคเลบ จอร์แดนเป็นมิชชันนารีอเมริกันผู้เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในซูดาน แล้วความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศในกาฬทวีป หรืออาจเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ก็นำพาให้ตระกูลของเขาเดินทางมายังสยามประเทศ และชีวิตใหม่ก็กำเนิดขึ้นที่อำเภอทุ่งช้าง จนกล่าวได้เต็มปากว่า หนุ่มเชื้อสายอเมริกันคนนี้ นับเป็นชาวน่านโดยกำเนิด
เขาเริ่มต้นส่งอีเมลกว่าร้อยฉบับ เพื่อขอสายพันธุ์กาแฟที่ไร่ต่างๆทั่วโลก แทบทั้งหมดเป็นความผิดหวังไร้คำตอบ แต่ทว่าคำตอบหนึ่งเดียวที่ได้มานั้นคุ้มค่าเสียยิ่งกว่าอะไร เพราะเป็น ไร่ Hacienda La Esmeralda ในประเทศปานามา (ปัจจุบันมีชื่อเสียงมาก) ซึ่งเป็นไร่ที่นำกาแฟสายพันธุ์เกอิชา (Geisha) อันเป็นชื่อหมู่บ้านในเอธิโอเปียไปปลูกในดินแดนอเมริกาใต้ เมล็ดพันธุ์ราวครึ่งกิโลกรัมจากอีกซีกโลก ถูกส่งมายังจังหวัดน่าน แม้ว่าอุปสรรคของสภาพดินฟ้าอากาศและอุทกภัย จะทำให้เหลือรอดเพียงหลักสิบต้น แต่เมล็ดพันธุ์กาแฟเกรดเอในระดับโลก ก็หยั่งรากลึกลงบนผืนดอยมณีพฤกษ์ได้สำเร็จ และต่อยอด กลายสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ กินอาณาเขตไปหลายไร่ใต้เงาผืนป่าอันร่มรื่นที่หนุ่มอเมริกันคนนี้มีหน้าที่ดูแล
หมู่บ้านมณีพฤกษ์ ตั้งอยู่ในอำเภอทุ่งช้าง ห่างจากตัวเมืองน่านประมาณ 120 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
โดยปกติรถยนต์ทั่วไปขับไปถึงหมู่บ้านได้ ยกเว้นในฤดูฝน เส้นทางขึ้นไปสู่หมู่บ้านอาจมีสภาพไม่ดีนัก ควรสอบถามสภาพเส้นทางล่วงหน้าก่อนการเดินทาง
สอบถามเรื่องกาแฟ หรือการเดินทางไปหมู่บ้านมณีพฤกษ์ ติดต่อ คุณวิชัย โทร.06-2248-5018