Lonely Planet

Lonely Planet

พิพิธภัณฑ์สิรินธร กาฬสินธุ์: อุทยานโลก ไดโนเสาร์
northeastern

พิพิธภัณฑ์สิรินธร กาฬสินธุ์: อุทยานโลก ไดโนเสาร์

ตามรอยสัตว์โลกล้านปีแห่งภาคอีสาน

writer: Chayawat Manasiri
photographer: Rakchat Sodaban
แม้ว่านวนิยายดังของไมเคิล ไครช์ตัน อย่างจูราสสิค พาร์ค ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญต่อวงการวรรณกรรม และภาพยนตร์มากเพียงใด แต่นั่นก็เป็นเพียงจินตนาการโลดแล่นของผู้เขียนที่มนุษย์ไม่มีโอกาสได้พบเจอแบบตัวเป็นๆ 

แต่กาลเวลาที่ผันผ่านมานับล้านปีก็ไม่ใจร้ายกับผู้ครองโลกยุคใหม่เกินไปนัก เมื่อยังทิ้งซากฟอสซิลของสัตว์ที่เคยยิ่งใหญ่ ให้มนุษย์ได้ศึกษาเดินทางย้อนเวลากลับไปทำความรู้จักโลกยุคดึกดำบรรพ์
สำหรับประเทศไทย หนึ่งในแหล่งพบร่องรอยของเหล่าสัตว์โลกจากอดีตกาลเหล่านั้น ถูกค้นพบในสภาพสมบูรณ์ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ อันเป็นจุดหมายปลายทางของการตามรอยไดโนเสาร์ถิ่นอีสาน คือ “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” อำเภอสหัสขันธุ์ ดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีการค้นพบซากไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดและมีจำนวนมากที่สุดของประเทศไทย

“พื้นที่ภูกุ้มข้าว ในเขตอำเภอสหัสขันธุ์ เป็นแหล่งค้นพบไดโนเสาร์ไทยที่สำคัญที่สุด เพราะขุดพบซากไดโนเสาร์ เจอไม่น้อยกว่า 700 ชิ้น และเป็นไดโนเสาร์ไม่ต่ำกว่า 7 ตัว”
หลายปีก่อนนักท่องเที่ยวไปชมหลุมขุดซากฟอสซิล ซึ่งถูกค้นพบโดยพระญาณวิสาลเถร เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน โดยครั้งนั้นไม่มีใครคาดคิดว่า ผลการวิเคราะห์ซากฟอสซิลโดยนักวิจัยไทยร่วมกับฝรั่งเศส จะยืนยันว่า ซากไดโนเสาร์ที่ขุดพบในภูกุ้มข้าว นับว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นสายพันธุ์ไดโนเสาร์กินพืชซอโรพอด ชนิด “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน”
(สายพันธุ์ซอโรพอดชนิดแรกของไทย ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น และตั้งชื่อเพื่อถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

การค้นพบได้กลายเป็นจุดเริ่มของความสำคัญแห่งประวัติศาสตร์อันน่าตื่นเต้น พื้นที่ภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธุ์ จึงได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาวิจัย และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ก่อนเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์สิรินธรในปี 2550
แม้ผ่านมาเกือบสิบปี แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักถูกใจเหล่าเยาวชนตัวน้อย ที่เดินเรียงแถวลงมาจากรถบัสโดยสารคันโต ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวฟังไม่ได้ศัพท์เมื่อเห็นรูปปั้นจำลองไดโนเสาร์ซอโรพอดคอยาว ยืนตระหง่านต้อนรับอยู่ภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่เสียงเซ็งแซ่เหล่านั้นจะยิ่งทวีคูณอีกหลายเดซิเบล เมื่อก้าวแรกสู่อาคาร มีรูปจำลองเท่าตัวจริงของไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อสูงราว 10 เมตร ยืนต้อนรับด้วยการอ้าปากอวดเขี้ยวคมน่าเกรงขาม

“ตัวนี้ มีชื่อว่า ‘สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส’ ขุดพบเจอในภาคอีสาน มันเป็นสายพันธุ์กินเนื้อที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 130 ล้านปี จะเรียกว่าเป็นบรรพบุรุษของทีเร็กซ์ก็ได้” ข้อมูลของนักล่าหน้าตาไม่เป็นมิตร ที่ตระหง่านอยู่ในโถงแรกของห้องนิทรรศการ โยงให้เห็นลำดับของวิวัฒนาการได้ดีว่าสายพันธุ์กินเนื้ออย่าง ไทรันโนซอริเดที่เก่าแก่และโด่งดังที่สุดในโลกนั้น สันนิษฐานได้ว่ามีต้นกำเนิดในแถบเอเชียนี่เอง
สีสันของพิพิธภัณฑ์สิรินธร ไม่ได้เป็นเพียงนิทรรศการภาพถ่ายอันราบเรียบ หากแต่ผสมผสานเทคโนโลยี และโมเดลทันสมัย สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจไปพร้อมกับความรู้ นับตั้งแต่ห้องแรกของพิพิธภัณฑ์ ที่ผู้มาเยือนได้รู้จักกับการกำเนิดของจักรวาลและโลก การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาตั้งแต่ยุคก่อนสิ่งมีชีวิต ผ่านแบบจำลอง เทคโนโลยี แสงสีเสียง อินเตอร์แอคทีฟ

ก่อนจะนำก้าวไปสู่การชมโมเดลโครงกระดูกไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์ ที่ค้นพบในประเทศไทย เช่น ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ , ฮิปซิโลโฟดอน , กินรีมิมัส และสเตโกซอร์ เป็นต้น พร้อมเสริมความคุ้นเคยด้วยโมเดลสายพันธุ์ตามที่คุ้นตาบนจอภาพยนตร์

รวมทั้งยังมีแลปวิจัยฟอสซิลที่รอคอยการสำรวจ ส่วนหลุดขุดพบซากอันสมบูรณ์ของจริงอย่าง ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ที่ค้นพบตัวแรกนั้น อยู่ห่างจากอาคารที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ ไปบนเนินเขาประมาณ 300 เมตร
ข้อมูลและหลักฐานอันสมบูรณ์เกี่ยวเนื่องกับสัตว์จากโลกดึกดำบรรพ์ ยังกระจัดกระจายไปอีกหลายพื้นที่ อาทิ แหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ภูแฝก ที่พบรอยตีนสายพันธุ์ทั้งประเภทกินเนื้อและกินพืช แหล่งปลาโบราณภูน้ำจั้น ซึ่งมีซากปลาโบราณอายุไม่ต่ำกว่าร้อยล้านปี แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย และแหล่งซากดึกดำบรรพ์เขื่อนลำปาว ที่ค้นพบซากไดโนเสาร์อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านธรณีวิทยา และสภาพแวดล้อมจากอดีตกาล

การค้นพบทั้งหมดนี้ สะท้อนภาพว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งศึกษาไดโนเสาร์ ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของไทยเท่านั้น แต่ยังสมบูรณ์ไม่น้อยกว่าที่ใดในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
More Information
พิพิธภัณฑ์สิรินธร เปิดให้บริการ 9.00-16.30 น. ปิดทุกวันจันทร์ (ยกเว้นวันจันทร์ที่เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
โทร. 0 4387 1014 , 0 4387 1393 - 4
บัตรผู้ใหญ่ 40 บาท
เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป 10 บาท

facebook.com/sirindhorn.museum

เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์สิริธร sdm.dmr.go.th
Tags: