วัดศรีสุทธาวาสเอิ้นมงกุฎ (วัดพุทธเอ้น) แห่งแม่แจ่ม

ศาสนสถานทรงคุณค่าแห่งอำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่
เมืองแห่งความน่าอยู่ที่โอบล้อมด้วยขุนเขา และนาข้าวขั้นบันไดอย่าง “อำเภอแม่แจ่ม” จังหวัดเชียงใหม่ มีวัดเก่าแก่ทรงคุณค่าน่าไปเยือน หนึ่งในนั้น ที่ The Passport ขอนำคุณไปรู้จัก คือ “วัดศรีสุทธาวาสเอิ้นมงกุฎ” หรือ วัดพุทธเอิ้น (บ้างก็เรียกว่า “วัดพุทธเอ้น”) วัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ส่วนที่มาของชื่อที่ดูแปลกเป็นเอกลักษณ์นี้ มาจากคำว่าพุทธเอิ้น (ตะโกนบอก) นั่นเอง มีตำนานเล่าขานว่าในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จเวเนยสัตว์และทรงหยุดพักผ่อนในบริเวณนี้ ทรงบ้วนน้ำจากพระโอษฐ์ออกมา ณ บริเวณที่ตั้งของบ่อน้ำในปัจจุบัน ซึ่งเป็นลักษณะของน้ำที่ไหลออกมาจากใต้พื้นดินอย่างไม่ขาดสาย แม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูแล้งก็ตาม พระภิกษุสองรูปที่ธุดงด์ผ่านมา ได้แก่ พระติวิทวังโส กับ พระชมภูวิทโย จึงได้รวบรวมกำลังชาวบ้านละแวกนั้น สร้างวัดขึ้นมาบริเวณแหล่งน้ำดังกล่าว จวบจนปัจจุบันก็เป็นภาพที่คุ้นตาของชาวบ้านในละแวกนี้ที่นิยมนำภาชนะมาบรรจุน้ำเพื่อนำกลับไปอุปโภคและบริโภค ภายในวัดยังมีพระอุโบสถกลางน้ำรูปสี่เหลี่ยม หรือ อุทกสีมา เพื่อใช้น้ำเป็น “เขตสีมา”หรือ “อุทกเขปปสีมา” กำหนดพื้นที่การทำสังฆกรรม แทนการใช้ใบเสมาวางบนพื้นดินแบบวัดอื่นๆที่คุ้นตา 

ความงดงามของพระอุโบสถมาจากการสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หลังคามุงแป้นเกล็ด พระอุโบสถมีงานแกะสลัก ฉลุลวดลายอ่อนช้อยน่าชม ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 ลักษณะการสร้างพระอุโบสถแบบนี้ ล้านนาได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากลังกา รวมถึงความเชื่อด้านพิธีกรรมอย่างการบวชในโบสถ์กลางน้ำ ที่ถืคติว่าพระภิกษุสงฆ์มีความบริสุทธิ์มากที่สุด (แต่ปัจจุบันการบวชกลางน้ำได้ยกเลิกไปแล้ว) ด้านในวัดเดินขึ้นบันไดรูปปั้นพญานาคขึ้นไปเป็นที่ตั้งของพระวิหารไม้สักเก่าแก่หลังคาซ้อนชั้นเป็นเอกลักษณ์ มีจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างไทใหญ่ การบูรณะในปี พ.ศ.  2520 จิตรกรรมฝาผนังถูกเขียนใหม่ เหลือให้เห็นของเดิมเพียงส่วนเล็กๆเหนือประตูเล็กด้านหลัง สองข้างของพระประธานประดิษฐานพระเจ้าแสนตอง และพระเจ้าทันใจ ส่วนด้านหลังพระวิหารมีพระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม ตรงฐานประดับลาย 12 นักษัตรแบบล้านนา

ต.ช่วงเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

You May Also Like