วัดร้าง: โบราณสถานลับๆ ที่ซ่อนตัวในเมืองกรุง

สำรวจวัดร้างในกรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ มีวัดในพุทธศาสนาประมาณ 500 วัด แต่วัดวาอารามเหล่านี้ ยังมี “วัดร้าง” ที่ยังเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ

วัดร้าง คงเป็นเรื่องที่บางคนไม่คุ้นหูคุ้นตานัก สำหรับมหานครที่เต็มไปด้วยความทันสมัย และปรากฏวัดสวยๆขนาดใหญ่กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด เป็นคำถามว่ากรุงเทพฯ มีวัดร้างแบบราชธานีเก่า เช่น สุโขทัย อยุธยา ด้วยหรือ ? ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับนักเที่ยวผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย ความจริงแล้ว กรุงเทพมีวัดร้างจำนวนหลายสิบแห่ง โดยวัดร้างในที่นี้ เป็นวัดซึ่งถูกยกเลิกสถานะความเป็นวัดลง สันนิษฐานว่า บางวัดสร้างมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์ และส่วนมากก็กลายสภาพเป็นวัดร้างในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 เนื่องจากจำนวนวัดที่มีมาก และบางชุมชนนั้นสร้างวัดติดกัน แต่เมื่อยุคสมัยและค่านิยมที่เปลี่ยนไป คนเริ่มทำงานหลากหลายมากขึ้น ทำให้จำนวนพระสงฆ์กระจายไปในแต่ละวัดน้อยลง ไม่ค่อยมีคนบวชเป็นพระภิกษุตลอดชีวิต หรือบวชในระยะเวลานาน

รวมถึงวัดหลายแห่งเป็นวัดของราษฎร ที่มีลักษณะเป็นเพียงวัดเล็กๆประจำชุมชน ไม่ใช่วัดหลวงขนาดใหญ่ เหตุผลดังกล่าวมาทั้งหมด จึงทำให้เมื่อวัดไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา สถานะความเป็นวัดก็ไม่ครบองค์ประกอบ และกลายเป็นวัดร้างในที่สุด

อย่างไรก็ตาม วัดร้างนั้น เป็นเพียงสถานะขององค์ประกอบการเป็นวัดที่ไม่ครบถ้วนเท่านั้น วัดร้างทั้งหลายจึงมีลักษณะคล้ายการควบรวมไปกับวัดใหญ่ที่อยู่ในบริเวณละแวกใกล้เคียงกัน ทำหน้าที่ดูแลร่วมกับชุมชน The Passport ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขอนำผู้อ่านมาสำรวจวัดร้างในย่านฝั่งธนบุรีที่มีความน่าสนใจให้คุณออกไปตามรอย
ทั้งนี้ เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ ครบถ้วน การท่องเที่ยวชมวัดร้าง จึงควรจัดโปรแกรมควบคู่ไปกับวัดหลักที่ดูแลรับผิดชอบอยู่ด้วย วัดหลัก: วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร (วัดศาลาสี่หน้า)
ถนนเพชรเกษม 28 เขตภาษีเจริญ

วัดสำคัญที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคย หากไปเที่ยวคลองบางหลวง หรือชุมชนคลองบางหลวงที่มีหุ่นละครเล็กอันโด่งดัง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดแห่งนี้ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดพระเชตุพนฯ และทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระประธานขึ้นใหม่ คือ พระพุทธเทวนฤมิตพิชิตมาร ประดิษฐานภายในพระอุโบสถที่งามวิจิตรด้วยศิลปะไทย-จีน ฝีมือช่างที่บูรณะไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดร้าง: วัดหลวงพ่อสุวรรณคีรี 

ไม่ไกลจากชุมชนคลองบางหลวง และวัดคูหาสวรรค์ เดินลัดเลาะเข้าไปในตรอกเล็กๆที่ขนานไปกับคลอง จนเจอโรงเรียนสุธรรมศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชน ภายในบริเวณโรงเรียนก็จะเจอกับวิหารเล็กๆที่มีสถาปัตยกรรมแบบจีน จนแทบดูเหมือนศาลเจ้า ที่นั่น คือ วัดหลวงพ่อสุวรรณคีรี ที่หลงเหลืออยู่ สันนิษฐานว่าเป็นสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพระพุทธรูปประธานปางสมาธิ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อสุวรรณคีรี เป็นวัดร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะไม่มีพระจำพรรษา และยุบรวมกับวัดคูหาสวรรค์ 

ภายหลังโรงเรียนสุธรรมศึกษามาเช่าสถานที่ และได้รวมอาคารวิหารหลวงพ่อสุวรรณคีรีเข้าไว้ด้วยกัน ปัจจุบันยังมีประเพณีการแห่หลวงพ่อสุวรรณคีรีโดยการนำรูปแทนองค์จริง และแม้เป็นวัดร้าง แต่ผู้คนก็ยังมักมาขอพรเรื่องสุขภาพ การงาน การเงิน และบุตรหลาน  วัดหลัก: วัดดุสิดารามวรวิหาร (วัดเสาประโคน)
เชิงสะพานปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย

วัดสมัยอยุธยาติดคลองบางกอกน้อย ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเชิงสะพานปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี วัดแห่งนี้เป็นสายตระกูลปาลกวงศ์ เป็นสายตระกูลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 กรมหลวงศรีสุนทรเทพ เจ้าฟ้าแจ่ม ได้บูรณะวัดนี้ แต่ผู้ที่มาบูรณะต่อ คือ วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 2 คือ พระองค์เจ้าจุ้ย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์  จุดเด่นอีกด้าน คือ จิตรกรรมฝาผนังไทยประเพณีแบบอยุธยาที่เก่าที่สุด ใช้พื้นแดงเป็นหลัก ถือว่าเป็นจิตรกรรมระดับประเทศ คือ ลายฝั่งตรงข้ามพระประธาน พระปางมารวิชัย และ พระแม่ธรณี ทรงและท่าสวยมาก ภาพเน้นการทำความดีของพระพุทธเจ้า มารมีทั้งยักษ์ มาร ชาวต่างชาติ คือเจ้าภาษีนายอากร และคนต่างศาสนาที่ไม่เข้าใจศาสนาพุทธ  วัดร้าง: วัดภุมรินทร์ราชปักษี

ตรงข้ามวัดดุสิดารามวรวิหาร เป็นที่ตั้งของวัดภุมรินทร์ราชปักษี ที่โดดเด่นด้วยวิหารสูงตั้งอยู่โดดเดี่ยว มีพระประธาน (หลวงพ่อดำ)ปางมารวิชัย สมัยอยุธยา มีพระอัครสาวกที่กำแพงเป็นงานปั้นนูนต่ำ เพื่อให้เหลือพื้นที่ในวิหารมากขึ้น ภายนอกอาคารมีลักษณะแบบโค้งสำเภา คาดว่ามีการบูรณะ สัญลักษณ์กระต่าย-พระจันทร์ นกยูง-พระอาทิตย์ จุดเด่นคือ มีเมขลา กับ รามสูร ฝั่งตรงข้ามพระประธานเป็นภาพกำแพง 7 ชั้นแทนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นและวิมาน มีการแบ่งตัวสี  ในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ตรวจสอบวัดแห่งนี้ ปรากฎว่ามีพระภิกษุอยู่จำพรรษาเพียงรูปเดียว จึงโปรดเกล้าฯให้ยุบรวมเข้ากับวัดดุสิดารามวรวิหาร ส่วนของพระอุโบสถหน้าบันทำเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑและมยุรารำแพน ประดับกระจกสีที่ยังพอมีให้เห็นบ้าง วัดร้าง: วัดน้อยทองอยู่

เป็นอีกหนึ่งวัด ที่มีสถานะเป็นวัดร้าง แต่ก็แทบจะไม่หลงเหลือความเป็นวัดใดๆเลย เพราะเหลือแต่องค์พระปรางค์ที่คล้ายซากปรักหักพัง ปกคลุมด้วยแมกไม้ 
เหตุที่วัดน้อยทองอยู่ เหลือเพียงพระปรางค์องค์เดียวเป็นหลักฐานที่ปรากฏในวันนี้ เนื่องจากวัดโดนระเบิดทางอากาศสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2489 จนได้รับความเสียหายอย่างมาก ทางราชการจึงประกาศให้รวมเข้ากับวัดดุสิดารามฯอีกวัดหนึ่ง วัดหลัก: วัดคฤหบดี 
ถนนจรัญสนิทวงศ์ 44 เขตบางพลัด

วัดเป็นผู้ดูแลอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติของรัชกาลที่ 3 คือ เจ้าพระมนตรีบริรักษ์ ภู่ ภมรมนตรี (ต้นตระกูลภมรมนตรี) วัดสร้างถวายรัชกาลที่ 3 เป็นรูปแบบราชนิยมในยุคนั้น เสาทึบตัน หน้าบรรณเป็นลายดอกพุฒตาล ไม่มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ซุ้มเสมาเป็นลายดอกพุฒตาล เสมาที่มีการทำแบบเดียวกัน  มีพื้นที่สนามหญ้าเพื่อให้เห็นอาคารชัดเจน (ต้นแบบวัดราชโอรสาราม) รัชกาลที่ 3 พระราชทานชื่อและพระทองคำให้ด้วย  มีพระพุทธประวัติหลวงพ่อแซกคำ (พระพุทธแซกคำ) เป็นศิลปะล้านนา พระพักตร์กลม เส้นพระเกศาเป็นก้นหอย อกใหญ่ เอวคอด แขนซ้าย-ขวา ใหญ่ สิ่งที่ไม่เหมือนองค์อื่น คือ นิ้วพระหัตถ์ งอนสวย การนั่งสมาธิราบ แต่นิ้วเท้าอ่อนช้อย การมีซุ้มปราสาท และมีฐานหลายชั้น คือเพื่อให้พระพุทธรูปดูใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีองค์เล็ก และเป็นตราสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 3 วัดร้าง: วัดสวนสวรรค์

วัดสวนสวรรค์ เป็นวัดของราษฎร ที่มีสถานะเป็นวัดร้าง ซ่อนตัวในซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 ปัจจุบันวัดคฤหบดีเป็นผู้ดูแล วัดหลงเหลือแค่วิหาร กับ เจดีย์ มีเสมาแบบพิเศษหักมุม บางจุดมีซุ้มทรงกูบ รับกับมุมอาคาร สันนิษฐานว่าน่าจะมีการบูรณะในช่วงรัชกาลที่ 1  วัดแทบไม่ปรากฏหลักฐานใด แต่ที่มาของชื่อวัดมาจากหน้าบันลายปูนปั้น ที่เป็นรูปพระอินทร์ จึงว่าเป็นสวนของพระอินทร์ หรือ สวนสวรรค์ นั่นเอง ในประวัติศาสตร์ของวัดคฤหบดีว่า วัดสวนสวรรค์ มีฐานะเป็นวัดราษฎร์ และร้างไปเมื่อ พ.ศ.2463 และได้รวมเข้าด้วยกันใน พ.ศ.2519  ภายในอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อดำ มีพระอัครสาวก นั่งถวายอัญชลี ด้านนอกมีพระปรางค์เล็ก 2 องค์ ซึ่งสูงชะลูดแบบรัตนโกสินทร์ ซึ่งอาจจะมีเจ้านายวังหน้าเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ เพราะไม่ไกลจากวัดบวรมงคลที่อยู่ในความดูแลอุปถัมภ์ของวังหน้า

You May Also Like