พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด: มรดกเมืองสุดทางบูรพา

แหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของ จ.ตราด
ตัวอาคารไม้ยกใต้ถุนสูงขนาด 2 ชั้น ถ.สันติสุข อ.เมือง จ.ตราด แต่เริ่มเดิมทีเคยเป็นอาคารศาลากลางเมืองตราด ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนเมื่อปี พ.ศ.2547 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้เสียหายเหลือเพียงแค่ฝั่งขวาสุดของอาคารเท่านั้น ไอได้รับงบประมาณจากเทศบาลเมืองตราด จังหวัดตราด ให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะอาคารหลังนี้ขึ้นใหม่ จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2549 จึงได้ใช้พื้นที่เพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด จังหวัดตราด อยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองตราดมาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2556

ภายในพิพิธภัณฑ์นั้นแบ่งเป็นห้องทั้งหมด 6 ห้องด้วยกัน โดยเริ่มที่ห้อง มรดกธรรมชาติและวัฒนธรรม แสดงข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของจังหวัด ซึ่งมีทั้งหมู่เกาะ หาดทรายยาว ทรัพยากรทางทะเล พื้นที่ป่าชายเลน เหมืองพลอย และแหล่งปลูกผลไม้ ซึ่งเป็นเสมือนสิ่งที่ทำให้ตราดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกในทุกวันนี้ ห้องที่สองว่าด้วยเรื่อง ผู้คนเมืองตราด ซึ่งมีอยู่หลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งชาวไทย ชาวมุสลิมเชื้อสายเขมร ชาวญวน ชาวของ และชาวจีน แล้วต่อด้วยห้อง ลำดับทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองตราด เริ่มต้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จากหลักฐานที่ค้นพบกลองมโหระทึก อายุราว 1,900-2,700 ปี รวมทั้งเครื่องมือโลหะและเศษเครื่องปั้นดินเผา จนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคขอม เข้าสู่สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี สู่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ห้องจัดแสดง เหตุการณ์สำคัญในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นห้องถัดมา บอกเล่าเรื่องราวในช่วงเวลาที่เมืองตราดเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก รวมถึงวันสำคัญในการรับมอบเมืองตราดคืนหลังการเข้ายึดครองของฝรั่งเศส ถัดมาคือห้อง เหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง จำลองการรบและเรือรบของไทยในเหตุการณ์ให้ชมผ่านรูปแบบของแสง สี เสียง อันทันสมัย และปิดท้ายด้วยการเดินชม ตลาดเมืองตราด ที่จำลองมาจากย่านการค้าริมน้ำสำคัญในอดีต ได้แก่ ตลาดริมคลอง ตลาดใหญ่ ตลาดขวาง และตลาดท่าเรือจ้าง กับบรรยากาศของวันเก่า ๆ ที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน

You May Also Like