การเดินทางไปเยือนปัตตานีครั้งนี้ ทีมงาน The Passport ได้รับการสนับสนุนจาก องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ที่ดำเนินงานวิจัยด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) มาอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆในบทความนี้ จึงผ่านการสำรวจเพื่อพัฒนาศักยภาพให้เป็นที่ยอมรับในตลาดท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยมีกลุ่มชุมชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกลายเป็นรูปแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชนต้นแบบที่น่าสนใจ
จุดหมายแรกของการเดินทาง เริ่มต้นที่ “ชุมชนท่องเที่ยวทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี” ชุมชนท่องเที่ยวทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ เป็นชุมชนสองวัฒนธรรม เพราะชาวพุทธกับชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาตั้งแต่สมัยตั้งรกราก ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งเรื่องอาชีพ รวมถึงด้านการท่องเที่ยวที่ชาวบ้านทั้งสองศาสนา ต่างร่วมกันต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ได้สัมผัสกับเสน่ห์ของวิถีชุมชนที่พวกเขารัก
** การท่องเที่ยวชุมชนทรายขาว ติดต่อคุณชนินทร์ เศียรอินทร์ (ประธานชุมชนท่องเที่ยวบ้านทรายขาว) โทรศัพท์ 08-9737-9553 **
กิจกรรมท่องเที่ยวที่นี่เริ่มด้วยการนั่งรถจิ๊บโบราณจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ชาวชุมชนซื้อรถเก่ามาใช้ในงานเกษตรกรรม และสามารถใช้โดยสารเพื่อการท่องเที่ยวได้อีกด้วย รถจิ๊บขับเคลื่อนสี่ล้อมุ่งหน้าไปสู่จุดชมวิวเขารังเกียบ เพียงครึ่งชั่วโมง เราก็ได้เห็นทัศนียภาพเขียวขจีของผืนป่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติสันกาลาคีรี และหมู่บ้านด้านล่างกลายเป็นขนาดจิ๋ว ซึ่งโชคดีที่อากาศแจ่มใสเป็นใจ ทำให้มองไปไกลถึงทะเลอ่าวไทยอยู่ลิบๆ
จุดชมวิวเขารังเกียบ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหามุนินทโลกนาถ พระพุทธรูปองค์มหึมา สูงประมาณ 30 เมตร ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2553 พระพุทธรูปมีความหมายว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นจอมผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ ทรงเป็นที่พึ่งของชาวโลก ซึ่งหากมองจากด้านล่างก็จะเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ตระหง่านอร่ามตาอยู่บนเทือกเขาสันกาลาคีรี
รถจิ๊บ นำคณะท่องเที่ยวมุ่งไปตามถนนในชุมชน จากนั้นก็ลัดเลาะซอกแซกไปตามสวนผลไม้ เตรียมตัวสู่จุดหมายปลายทางที่ชาวบ้านภูมิใจนำเสนอ …
ทุเรียนทรายขาว อร่อยไม่แพ้ที่ใดในประเทศไทย ! ชาวบ้านในชุมชนทรายขาวกล่าวไว้เช่นนั้น ทั้งนี้เพราะว่า ทุเรียนทรายขาว คือ สายพันธุ์ดั้งเดิมมาจากทุเรียนนนท์อันเลื่องชื่อ แต่เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ที่สภาพดินน้ำอุดมสมบูรณ์และมีเอกลักษณ์ของสภาพอากาศเฉพาะถิ่นทางภาคใต้ จึงเปลี่ยนให้พันธุ์ทุเรียนนนทบุรีที่ดีอยู่แล้ว ยิ่งกลายเป็นสุดยอดทุเรียนกว่าเดิม รสอร่อยหวานมัน มีทั้งแบบนิ่ม แบบเนื้อแน่น แถมด้วยผลไม้อื่นๆอีกมากมาย อาทิ มังคุด เงาะ ลองกอง
** กิจกรรมชม ชิม ตะลอนสวนผลไม้ ต้องไปให้ตรงกับฤดูกาล ซึ่งเป็นช่วงมิถุนายน ไปจนถึงปลายสิงหาคมของทุกปี **
อิ่มผลไม้กันแล้ว เรามุ่งหน้าสู่ “มัสยิดนัจมุดีน” หรือ มัสยิดบาโงยลางา มัสยิดโบราณกว่า 300 ปีที่มีสถาปัตยกรรมการก่อสร้างผสมผสานศิลปะไทยกับศิลปะแบบมุสลิมในสถานที่เดียวกัน ที่มาของการสร้างก็เป็นความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องสองศาสนาในชุมชน ที่ช่วยเหลือกันจนสำเร็จ
มัสยิดแห่งนี้ จึงมีลักษณะคล้ายศาลาการเปรียญที่ชาวมุสลิม ใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนาตามความเชื่อได้ตามปกติ สิ่งที่น่าตื่นเต้นอีกอย่าง คือ มัสยิดนี้สร้างโดยไม่ใช้ตะปู แต่ใช้ลิ่มไม้แบบภูมิปัญญาดั้งเดิม กลายเป็นศาสนสถานอันงดงามมาจวบจนปัจจุบัน และอีกความสำคัญของมัสยิด ยังเป็นที่เก็บรักษาพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานโบราณฉบับเขียนด้วยมือ ซึ่งมีปกทำจากเปลือกต้นมะม่วงหิมพานต์
ผ้าลายจวนตานี มีเอกลักษณ์สำคัญ คือ สีสันฉูดฉาดโดดเด่น สีระหว่างเชิงผ้าตัดกัน ลายเชิงผ้าและตัวผ้าต้องแตกต่าง และผ้าดั้งเดิมต้องเป็นสีแดงเท่านั้น แม้ไม่มีหลักฐานชัดว่าผ้าทอแห่งปัตตานีมีมานานเพียงใด แต่ผ้าจวนตานี ปรากฏถึงในวรรณคดีไทย เรื่องขุนช้างขุนแผน และ อิเหนา ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
ปัตตานี เป็นเมืองพหุวัฒธรรม มีทั้งพุทธ อิสลาม และจีน ผสมผสานร่วมกันอย่างกลมกลืน ก่อนเดินทางกลับเข้าตัวเมือง เราจึงแวะชมมัสยิดสำคัญอีกแห่งของจังหวัดปัตตานี นั่นคือ มัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ ซึ่งห่างจากตัวเมืองปัตตานี ประมาณ 6 กิโลเมตร
มัสยิดแห่งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเรื่องเล่าในตำนานสมัยก่อนนั้น มีความคลาดเคลื่อนจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่พอสมควร แนะนำว่าให้ฟังประวัติจากชาวชุมชนมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งเล่าว่า ความเสียหายของมัสยิดในอดีต เกิดในยุคที่สยามกับปัตตานียังทำสงครามกัน
มัสยิดกรือเซะนับเป็นโบราณสถาน ที่มีความงามโดดเด่นด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมเปอร์เซีย มีการก่อสร้างเป็นแบบเสากลม ช่องประตูหน้าต่างมีทั้งแบบโค้ง แหลม โค้งมน หาชมได้ยาก
มัสยิดกรือเซะ ยังเป็นศาสนสถานที่ชาวชุมชนใช้ประกอบพิธีกรรมตามปกติ ดังนั้น นักท่องเที่ยวจึงต้องแต่งกายสุภาพ และเที่ยวชมด้วยความสำรวม ให้เกียรติสถานที่
อย่างไรก็ตาม ด้วยความแปลก และน่าสนใจ เราจึงเดินทางไปชมสุสานกลางน้ำแห่งนี้กันสักหน่อย … ในศาลาเก่าๆริมทะเลนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นสุสานของผู้ใด สันนิษฐานว่าอาจเป็นชาวจีนในยุคเดียวกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเท่านั้น แต่ที่นี่ก็เป็นสถานที่อันซีน เพราะแผ่นหินขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นสุสานกลางน้ำ และจะปรากฏให้เห็นก็ต่อเมื่อช่วงเวลาน้ำลดมากๆเท่านั้น ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้เจอ
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ใช่สุสานสำคัญทางประวัติศาสตร์อะไร แต่ก็ไม่ต้องกลัวเสียเที่ยว เพราะหากไปริมทะเลตันหยงลุโละในช่วงเวลาบ่ายคล้อยก่อนเย็นแล้ว บรรยากาศริมทะเลปัตตานีตรงนั้น ก็สวยงามแปลกตาไปอีกแบบ มีชาวบ้าน มาเดินออกกำลังกาย เด็กๆมาปั่นจักรยาน และบรรดาฝูงนกริมทะเล โบยบินหากินริมหาด เป็นจุดถ่ายภาพที่ต้องกดชัตเตอร์รัวๆ
โรตีกรอบ โรตีนุ่ม มะตะบะ และชาชักรสเข้มข้น มีร้านขายอยู่ภายในโรงแรม ซื้อแล้วนั่งกินได้เลย เพราะมีโต๊ะเก้าอี้ ให้นั่งสบายๆอยู่บริเวณลานหน้าโรงแรม ใครชอบโรตี-ชาชัก สไตล์ปักษ์ใต้ บอกเลยว่าห้ามพลาด