วัดราชาธิวาสวิหาร วัดป่าในอดีตกับความวิจิตรในปัจจุบัน

วัดแรกที่ก่อกำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
ด้วยบรรยากาศของแมกไม้ร่มรื่นและมีความเงียบสงบ บ่งบอกความเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า) ของวัดราชาธิวาสวิหาร ได้เป็นอย่างดี โดยวัดแห่งนี้สร้างขึ้น ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อวัดสมอราย (สะ-หมอ-ราย) จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้าในรัชกาลที่ 1) ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และได้รับการบูรณะเรื่อยมา
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระราชทานนามว่า วัดราชาธิวาสวิหาร หมายถึง วัดซึ่งเป็นที่ประทับของพระราชา และวัดแห่งนี้ยังเคย เป็นที่ประทับของพระองค์ระหว่างทรงผนวช จึงนับเป็นวัดแรกที่ก่อกำเนิดคณะสงฆ์ ธรรมยุติกนิกายอีกด้วย วัดมีความทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงออกแบบสร้างพระอุโบสถใหม่ โดยรักษาผนังพระอุโบสถเดิมด้านหลังไว้ แต่สร้างใหม่ในรูปแบบอาคารทรงขอมศิลปะปูนปั้น ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ความโดดเด่นของพระอุโบสถ รวมถึง การแบ่งเป็น 3 ตอน ด้านหน้าเป็นห้องพัก ตรงกลางเป็นส่วนประกอบศาสนกิจ และด้านหลังมีพระประธาน 2 องค์ องค์ที่ประดิษฐานห้องด้านหลัง คือ พระสัมพุทธวัฒโนภาส เป็นพระประธานเดิมสันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนพระประธานประจำห้องกลาง คือ พระสัมพุทธพรรณี ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองสร้างแทนองค์เดิมที่ย้ายไปประดิษฐาน ณ ด้านหน้าของพระแก้วมรกต ข้อมูลน่ารู้
– ภายในพระอุโบสถมีความงดงามตื่นตาตื่นใจด้วยจิตรกรรมฝาผนังพระเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ ซึ่งวาดด้วยสีเฟรสโก โดยศาสตราจารย์ริโกลี ชาวอิตาลี (ผู้วาดจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งอนันตสมาคม) – ศาลาการเปรียญของวัดที่งดงามสะดุดตาสร้างจากไม้สักทองทั้งหลัง มีความสวยงามระดับเอเชีย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้สร้างเลียนแบบศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี

-บริเวณวัดยังมีพระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง พระตำหนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยการสนับสนุนทางด้านงบประมาณจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ตั้ง
ถนนสามเสนซอย 9 แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต
(ใกล้กับหอสมุดแห่งชาติ และท่าว่าสุกรี) โทร.02 668 7988 
http://www.watraja.org 

You May Also Like