ประเพณีดอกไม้พันดวง ข้าวพันก้อน จุดสีสาย ณ วัดร้องแง

วัฒนธรรมงามหาชมได้ยากแห่งชุมชนไทลื้อ เมืองปัว
หนึ่งในชุมชนวัฒนธรรมที่เป็นจุดหมายการเดินทางของการไปเยือนอำเภอปัว จังหวัดน่าน คือ “หมู่บ้านร้องแง” ชุมชนชาวไทลื้อซึ่งมีประวัติเล่าสืบกันมา เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2310 โดยความเชื่อดั้งเดิมสมัยโบราณก็ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น การแต่งกาย การใช้ภาษา การสร้างวัดที่มีสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์

จุดศูนย์กลางชุมชนอย่างวัดร้องแง เป็นวัดไทลื้อโบราณที่มีวิหารเก่าแก่กว่าสองร้อยปี มีสถาปัตยกรรมเอกลักษณ์หน้าบันเป็นลายพันพฤกษา หลังคาคลุมต่ำ และถือเป็นอาคารอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถาน และวัดวาอาราม โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ความสำคัญของการมาเยือนวัดเล็กๆในชุมชนไทลื้อแห่งนี้ ยังมีเรื่องวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามหาชมได้ยากจากสถานที่อื่นในประเทศไทย โดยจัดขึ้นปีละครั้งเนื่องในงานเทศน์มหาชาติช่วงวันเกี๋ยงเป็งของล้านนา แต่ถ้านับง่ายๆ คือ ช่วงหนึ่งวันก่อนวันลอยกระทง และวันลอยกระทง (15 ค่ำ เดือน 12)

ประเพณีดังกล่าว ได้แก่ การถวายดอกไม้พันดวง ถวายข้าวพันก้อน และการจุดสีสาย ประเพณีถวายดอกไม้พันดวง
หนึ่งในประเพณีที่สืบทอดจนถึงทุกวันนี้ของชาวชุมชนร้องแง คือ การถวายดอกไม้พันดวง หรือสำเนียงไทลื้อ เรียกว่า ดอกไม้ปันโดง ซึ่งเป็นความเชื่อกันว่า สมัยพระเวสสันดรครองศีลอยู่ในป่า เมื่อถึงเวลานิวัตนคร ชาวบ้านก็ต่างพากันประดับประดาดอกไม้ตลอดเส้นทางที่เสด็จกลับ พร้อมทั้งมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งเหตุการณ์ตามความเชื่อนั้น ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของภาคกลาง

จากความเชื่อดังกล่าว จึงกลายเป็นประเพณีของชาวชุมชนไทลื้อ ที่พากันมา “ดอกไม้พันดวง” เพื่อแขวนประดับ ถวายไว้ในวิหารของวัดประจำชุมชน (วัดร้องแง) โดยจะทำกันในช่วงสายๆของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 (ก่อนวันลอยกระทงหนึ่งวัน) ดอกไม้พันดวง เป็นการเปรียบเทียบเสมือนนำดอกไม้พันดอกมาใส่ไว้ใน “แตะ” หรือแต๊ะ ไม้ไผ่สานคล้ายตะแกรงรูปทรงสี่เหลี่ยม หรือรูปทรงอื่นก็ได้ ดอกไม้ที่ใช้เป็นดอกไม้ที่ปลูกในบ้าน ดอกไม้พื้นบ้านในท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาเพิ่มเติม นำมาวางเรียงทับซ้อนๆกันบนแตะ สามารถทำได้แบบอิสระตามใจชอบ หรือออกแบบให้มีลวดลายตามสีสันก็ตามแต่ความถนัด ในยุคก่อน ชาวบ้านต่างทำกันมาจากบ้าน แต่เมื่อยุคปัจจุบันการสื่อสารสะดวกมากขึ้น ก็มักมารวมตัวกันทำดอกไม้ที่ลานวัดพร้อมกัน เมื่อทำเสร็จก็นำไปแขวนประดับภายในวิหารก่อนวันขึ้น 15 ค่ำ แขวนไว้หนึ่งปี เมื่อนำลงมาบ้างอาจนำไปใช้เป็นมวลสาร เครื่องรางของขลัง เก็บเป็นที่ระลึก หรือจะนำไปทิ้งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ควรทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง ส่วนหนึ่งของประเพณี ก็นับเป็นกุศโลบายให้กลิ่นของดอกไม้หอมฟุ้งไปในวิหาร ไม่ต้องใช้น้ำหอมใดๆ  ถวายข้าวพันก้อน
แสงไฟสว่างจากภายในวิหาร “วัดร้องแง” และโคมมะเต้าสีสดใสที่แขวนประดับเรียงรายไว้รอบๆ ขับไล่ความมืดยามรุ่งสาง เป็นสัญญาณให้รับรู้ว่าเช้าวันนี้วัดประจำหมู่บ้านจะมีงานบุญ

ตั้งแต่เวลาประมาณ 2-3 นาฬิกาช่วงเช้ามืดของวันลอยกระทง (15 ค่ำ ดือน 12) ท่ามกลางหมอกจางที่ห่มคลุมเป็นม่านบาง มีความเคลื่อนไหวบริเวณศาลาข้างวิหาร ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่กำลังก่อฟืนไฟหุงข้าวนึ่ง หรือข้าวเหนียว เพื่อนำมาปั้นเป็น “ข้าวพันก้อน” ตามความเชื่อพุทธศาสนาของการสักการะบูชาสำหรับงานบุญใหญ่ประจำปี การปั้นข้าวเหนียวร้อนๆเป็นก้อนขนาดพอดีมือ จำนวนพันก้อน นำมารวมกันเพื่อถวายวัด ตามความเชื่อซึ่งมีที่มาสอดคล้องกับ “พระคาถาพัน” อันหมายถึง การสวดพระเวสสันดรชาดก หรือ เทศน์มหาชาติ นั่นเอง ส่วนข้าวเหนียวที่เหลือจะนำมาแบ่งใส่บาตร ไม่ต่างจากการตักบาตรข้าวเหนียว เมื่อยิ่งใกล้เวลาก่อนแสงแรกของวัน ชาวบ้านต่างทยอยกันเดินทางมายังวัดหอบหิ้วธูปเทียนดอกไม้อาหารมาพร้อมความความศรัทธาที่ปรากฎฉายชัดบนใบหน้าและแววตา นอกจากนำมารวมกันเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การนำเทียน ดอกไม้ และข้าวเหนียว มาถวายท้าว หรือเทพทั้งสี่ทิศ ตรงหน้าวิหารที่ดูจะเพิ่มความคึกคักเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ประเพณีถวายข้าวพันก้อนที่วัดร้องแง เป็นส่วนหนึ่งของงานบุญชาวไทลื้อ ที่เสมือนงานบุญวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของภาคกลาง เป็นหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ของชาวหมู่บ้านร้องแง แห่งอำเภอปัว จังหวัดน่าน ซึ่งพร้อมเปิดรับให้ผู้มาเยือนลองเข้ามาสัมผัสความงดงามจากแรงศรัทธานี้ด้วยตัวเอง ประเพณี จุดสีสาย
เปลวไฟลุกโชติช่วงในคืนที่ละอองฝนโปรยปราย เสียงอธิษฐานงึมงำอยู่รอบกองไฟฟังดูเข้มขลัง มีเสียงประทัดดังขึ้นเป็นระยะๆ แต่ทว่าบรรยากาศนั้นเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม

ในค่ำคืนลอยกระทง สถานที่หลายแห่งต่างสนุกครึกครื้นกับประเพณีแห่งสายน้ำ แต่ที่หมู่บ้านร้องแง อำเภอปัว จังหวัดน่าน ชาวบ้านต่างเดินทางมารวมตัวกันภายในบริเวณวัดร้องแง โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน “จุดสีสาย” (หรือ สุยสาย ในสำเนียงชาวไทลื้อ) ซึ่งประเพณีดังกล่าว ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อของชาวไทลื้อ ในหมู่บ้านร้องแง สีสาย คือ เส้นฝ้ายที่วัดขนาดความยาว 1 วา ของแต่ละคน เพื่อเป็นสื่อแทนตัวบุคคลนั้น (รวมถึงสิ่งมีชีวิต ทรัพย์สมบัติ เช่น สัตว์เลี้ยง รถยนต์ บ้าน ก็ได้) หลังจากการเทศน์กัณฑ์สุดท้ายแล้ว ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีก็จะนำสีสายที่เตรียมไว้ไปจุดไฟ บริเวณลานกว้างข้างๆพระวิหาร พร้อมกล่าวคำอธิษฐานถึงสิ่งดีๆ กล่าวอุทิศบุญกุศลแก่เจ้ากรรมนายเวร และการจุดสีสายก็เสมือนการใช้เปลวไฟเผาไหม้สิ่งไม่ดีให้ออกจากชีวิต ประเพณีหาชมได้ยากเช่นนี้ ยังคงได้รับการสืบสานความศรัทธาตามความเชื่อของพุทธศาสนา โดยชาวไทลื้อในหมู่บ้านร้องแง ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่มีเสน่ห์น่าชมของอำเภอปัว จังหวัดน่าน

วัดร้องแง
หมู่บ้านร้องแง ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน
ห่างจากตัวเมืองน่าน ประมาณ 65 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

You May Also Like