[ภาพประกอบข่าว: แฟ้มภาพ แทสเมเนียนเดวิลใน Reptile Park ปี 2019]
“สีชมพู ยังไม่มีขน หูยังไม่ได้ยิน ยังไม่ลืมตา แต่ดูมันมีความสุขมาก และมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วลิสง” นับเป็นการค้นพบครั้งสำคัญสำหรับนักอนุรักษ์ที่ออกเดินทางข้ามป่ายูคาลิปตัสท่ามกลางหมอกยามเช้าด้วยความหวังว่าจะได้พบ “แทสเมเนียนเดวิล” (Tasmanian devil) สัตว์เฉพาะถิ่นของออสเตรเลีย
สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว CNN รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่า ออสซี อาร์ก (www.aussieark.org.au) ว่า “แทสเมเนียนเดวิล” (Tasmanian devil) จำนวน 7 ตัวได้ถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติบาร์ริงตันท็อปส์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ (NSW) ของออสเตรเลีย ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3,000 กว่าปี ที่มีลูกแทสเมเนียนเดวิลถือกำเนิดในสภาพแวดล้อมธรรมชาติบนแผ่นดินใหญ่ของออสเตรเลีย
“ มันเคลื่อนไหวอย่างคึกคักมาก” ทิม ฟอล์กเนอร์ ประธานของออสซี่อาร์ก กลุ่มอนุรักษ์ซึ่งเป็นผู้นำในการพยายามสร้างประชากรของแทสเมเนียนเดวิลขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่พวกมันถูกกำจัดบนแผ่นดินใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนัขออสเตรเลีย
นักสิ่งแวดล้อมระบุว่าขณะนี้ ลูกแทสเมเนียนเดวิลเหล่านี้มีขนาดตัวเท่ากับเมล็ดถั่วลิสงที่ยังไม่แกะเปลือกและอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ออสซี อาร์ก ได้ปล่อยแทสเมเนียนเดวิล 11 ตัวสู่ป่าอุทยานบาร์ริงตัน หลังจากที่เคยปล่อยไป 15 ตัวก่อนหน้านี้ ทำให้แผ่นดินใหญ่ออสเตรเลียมีแทสเมเนียนเดวิลทั้งหมด 26 ตัว
แทสเมเนียนเดวิลเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีกระเป๋าหน้าท้องและกินเนื้อ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มันเคยสูญพันธุ์จากแผ่นดินใหญ่ออสเตรเลียไปแล้วเมื่อกว่า 3,000 ปีก่อน และหลงเหลืออยู่บนเกาะแทสเมเนียเท่านั้น ชื่อแทสแมเนียนนั้นมีที่มาจากชื่อเกาะ ส่วนเดวิลที่แปลว่าปีศาจร้ายถูกนำมาตั้งร่วมด้วยเนื่องจากมีนิสัยก้าวร้าว
การลดฮวบของประชากรแทสเมเนียนเดวิลมีสาเหตุมาจากการระบาดของโรคมะเร็งใบหน้า ทำให้พวกมันตายไปมากกว่า 90% โดยออสซี อาร์กระบุว่ามีประชากรสัตว์สายพันธุ์นี้หลงเหลืออยู่บนเกาะแทสเมเนียเพียง 25,000 ตัวเท่านั้น
ฟอล์กเนอร์กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าสัตว์เหล่านี้จะเดินทางไปนอกเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีรั้ว 1,000 เอเคอร์ได้อย่างไร แต่เขาเสริมว่าขั้นตอนแรกคือ “ทำให้พวกมันมีโอกาสผสมพันธุ์และอยู่รอดก่อน”