ในเมื่อรัสเซียผลิตนวนิยายที่ยาวและยิ่งใหญ่ที่สุด ก็ไม่น่าแปลกใจที่ดินแดนแห่งม่านเหล็กจะสร้างเส้นทางรถไฟที่ยาวและยิ่งใหญ่ที่สุดได้เช่นกัน และคงยากที่ใครจะกล่าวเถียงว่า มีเส้นทางอื่นใดโด่งดังเทียบเท่ารถไฟสายทรานส์ – ไซบีเรีย ที่มีอายุยืนนานกว่าศตวรรษ ความจริงแล้ว “ทรานส์ – ไซบีเรีย” ไม่ใช่แค่เส้นทางรถไฟเดียวเดี่ยวโดด หากแต่เป็นเครือข่ายรางรถไฟจากมอสโกไปจนทั่วทั้งแถบตะวันออก ผ่านเทือกเขาอูราล (Ural) และเมืองเยคาตารินเบิร์ก (Yekaterinberg) และตอมส์ค (Tomsk) ก่อนแยกเป็นสองสายแถวทะเลสาบไบคาล (Lake Baikal) เส้นทางยอดนิยมที่สุดในเวลานี้ คือ เส้นทางสายทรานส์-มองโกเลีย ซึ่งโค้งตัวลงใต้จากไบคาลไปถึงอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย ข้ามทะเลทรายโกบี และไปสิ้นสุดที่ปักกิ่ง (ใช้เวลา 7 วัน) ซึ่งหนทางจะไปปักกิ่งที่ไม่ธรรมดายิ่งกว่านี้ คือ ใช้เส้นทางรถไฟสายแมนจูเรีย ซึ่งไปถึงเมืองหลวงของจีนได้ โดยใช้เส้นทางอ้อมผ่านฮาร์บิน (Harbin) เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องเทศกาลแกะสลักน้ำแข็ง นักท่องเที่ยวน้อยคนจะเดินทางไปกับเส้นทางสายทรานส์-ไซบีเรียจริงๆ (มากที่สุด 8 วัน) เพราะต้องอยู่ในรัสเซียตลอดการเดินทาง ก่อนจะไปถึงจุดหมายที่เมืองริมมหาสมุทรแปซิฟิกอย่าง “วลาดิวอสตอค” โดยเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการน้อยที่สุด คือ BAM รางแยกที่โซเวียตสร้างขึ้นไปทางเหนือ ผ่านพื้นที่ไกลโพ้นที่สุดของแดนหมีขาว รถไฟรัสเซียนั้นสะดวกสบายโดยไม่ต้องพึ่งพาความหรูหราใดๆ แต่ก็มิดชิดพอจะให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว ตู้รถไฟแบ่งเป็นเคบินชั้นหนึ่ง 2 เตียง , เคบินชั้นสอง 4 เตียง และ ปลาตสการ์ตนี (Platskartny) ที่อธิบายได้ดีที่สุดว่าเป็นหอนอนบนรถไฟ ทั้งนี้ทุกตู้นอนมีก๊อกน้ำร้อน และพนักงานให้บริการที่มีชื่อเรียกว่า โปรวอดนิตซา (Provodnitsa) ซึ่งมักมีบุคลิกไม่ค่อยจะน่าคบหา และพูดภาษาอังกฤษทั่วไปได้แบบงูๆปลาๆ แม้จะจองตั๋วโดยสารได้โดยตรงกับ Russian Railways (www.tutu.travel) แต่ก็ง่ายกว่าถ้าจองผ่านตัวแทนที่ดำเนินการเรื่องวีซ่า 3 ประเทศให้เสร็จสรรพ เพราะมักจะมีช่วงวุ่นวายที่รถไฟแวะระหว่างเส้นทาง ซึ่งการขนย้ายต่างๆ ก็นับเป็นความท้าทายชวนปาดเหงื่อ
ค่ารถไฟตู้นอนชั้นสอง สายมอสโก-ปักกิ่ง อยู่ราวๆ 20,000-27,500 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและชนิดของรถไฟด้วย
ค่ารถไฟตู้นอนชั้นสอง สายมอสโก-ปักกิ่ง อยู่ราวๆ 20,000-27,500 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและชนิดของรถไฟด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม
realrussia.co.uk