มรดกโลกในกลุ่มประเทศอาเซียน (รวมทั้งในประเทศไทย) ล่าสุด มีถึง 40 แห่งไปแล้ว หากเดินทางไปเก็บให้ครบทุกแห่งคงต้องใช้เวลาและงบประมาณพอสมควร
The Passport ขอคัดเลือกมรดกโลกในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนบางส่วน จำนวน 15 แห่ง ที่ได้รับความนิยม หรือมีความน่าสนใจ มาเป็นแนวทางกระตุ้นไฟในการเดินทางของคุณ
ศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีพื้นที่ราว 400 ตร.กม. น่าจะเป็นหนึ่งในมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่นักเดินทางชาวไทยคุ้นเคยมากที่สุด และไปเยือนกันมาแล้วหลายคน
สถานที่แห่งนี้ เคยติดอันดับหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และยังไม่เคยเสื่อมความนิยมจากนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในอารยธรรมโบราณ ที่ปักหมุดว่าต้องเดินทางมาสัมผัสสักครั้งในชีวิต
กลุ่มวัดบุโรพุทโธ ในเกาะชวา แห่งอินโดนีเซีย
พุทธศาสนาสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สันนิษฐานว่าสร้างในยุคศตวรรษที่ 8-9 และเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา ในยุคก่อนที่เกาะชวาจะถูกชาติตะวันตกเข้ามายึดครอง
ความอลังการของมหาสถูปทรงพีระมิดสร้างจากหินภูเขาไฟ เรียงรายด้วยพระพุทธรูปนับร้อย และชิ้นงานแกะสลักอีกนับพัน ท่ามกลางความสมบูรณ์ของผืนป่า ซึ่งยิ่งเพิ่มเติมบรรยากาศความเข้มขลังของมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งนี้
นาขั้นบันไดนั้นมีมากมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทางตอนเหนือบนเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์นั้น มีการทำนาขั้นบันไดกันแบบอลังการทั้งภูเขา และทำมาเนิ่นนานนับพันปี นับตั้งแต่ชาวอิฟูเกา ผู้อพยพจากไต้หวันมาตั้งรกรากในอดีต
ด้วยสภาพภูเขาสูงกว่าพันเมตรเหนือระดับน้ำทะเล และแทบไม่เหมาะแก่การเกษตรกรรมเลย แต่ภูมิปัญญาทางเกษตรกรรมของชาวบ้านก็เนรมิตให้ภูเขากลายเป็นท้องทุ่งนาขั้นบันไดที่มีความงาม และสามารถดำรงชีพได้จริง จนได้รับการรับรองให้เป็นมรดกโลกมาแล้วกว่า 20 ปี
บาหลี เกาะท่องเที่ยวดังแห่งอินโดนีเซีย อีกหนึ่งขวัญใจนักท่องเที่ยวชาวไทย ก็นับเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อเต็มว่า ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเขตบาหลี : ระบบสุบัก หลักการตามปรัชญาไตรหิตครณะ ซึ่งครอบคลุมถึง การเกษตรกรรมนาขั้นบันได การสร้างระบบชลประทานแบบโบราณ (สุบัก) รวมถึงความแข็งแกร่งของปรัชญาแนวคิดฮินดู ในดินแดนที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรม
เมืองเก่าที่ครบรอบ 20 ปี สถานะมรดกโลกในปีนี้ (2019) เมืองท่าแห่งนี้ เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15-19 และนับเป็นศูนย์กลางการค้าที่มีวัฒนธรรมทั้งดัตช์ ญี่ปุ่น อินเดีย ผสมอยู่ในดินแดนเวียดนาม
สวนเก่าแก่ที่มีอายุมากว่าร้อยปี ภายในสวนอันกว้างใหญ่เต็มไปด้วยความร่มรื่นของพันธุ์ไม้นานาชนิด และยังเป็นแหล่งจัดแสดงกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
สวนแห่งนี้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2015 นี่เอง ซึ่งหากมองว่า วัฒนธรรมของชาวสิงคโปร์ คือ การสร้างสรรค์เมืองเป็นสีเขียวจากธรรมชาติ สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ก็ควรค่าแก่สถานะมรดกโลกทางวัฒนธรรมไม่น้อยไปกว่าสถานที่อื่นเลย
อีกหนึ่งเมืองมรดกโลกที่คนไทยชื่นชอบและไปเยือนเป็นลำดับต้นๆ
ความเก่าแก่ของวัดวาอารามวิจิตรอันเป็นเอกลักษณ์ ผสมกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวลาว ทั้งยังมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมโคโลเนียล ท่ามกลางธรรมชาติ ก็ไม่น่าแปลกใจนักที่จะเป็นเมืองมรดกโลกขวัญใจของใครๆหลายคน
มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของมาเลเซีย เป็นที่โปรดปรานของนักท่องเที่ยวที่ชอบ การผจญภัย และสัมผัสธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภูเขาคินาบาลู ตั้งอยู่ในรัฐซาบาห์ เป็นภูเขาที่สูงที่สุดบนเกาะบอร์เนียว และสันนิษฐานว่า ต้องผ่านกาลเวลามานับล้านปี กว่าจะมีภูมิประเทศอลังการแบบที่เห็นในปัจจุบัน
นอกจากความอุดมสมบูรณ์หลากหลายของพืชพรรณในป่าแล้ว ยอดเขาคินาบาลูนั้นสูงถึง 4,095 เมตร ที่นี่จึงเป็นแหล่งมรดกโลกที่เหล่านักปีนเขาใฝ่ฝันว่าอยากไปพิชิตให้ได้สักครั้ง
กระจัดกระจายไปตามเมืองต่างๆ 4 แห่ง ได้แก่ มะนิลา , Ilocos Sur , Ilocos Norte และ Miagao, Iloilo
ความทรงคุณค่าของโบสถ์คาทอลิกในฟิลิปปินส์ นอกจากความสมบูรณ์ของสถาปัตยกรรมอันวิจิตรแห่งศาสนาคริสต์แล้ว ยังเป็นหลักฐานอารายธรรมความรุ่งเรืองของสเปนในอดีต
อ่าวฮาลอง
ฮาลองเบย์ น่าจะเป็นภาพแทนของประเทศเวียดนามได้ดีไม่น้อยไปกว่าที่อื่น ด้วยสถานะมรดกโลกทางธรรมชาติ ที่โดดเด่นด้านภูมิทัศน์ของเกาะแก่งหินปูนนับพัน ตระหง่านท่ามกลางผืนน้ำ และยังมีโถงถ้ำต่างๆซุกซ่อนอยู่มากมาย นอกจากกิจกรรมล่องเรือเดย์ทริป ชมความงามของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่แล้ว ก็มีกิจกรรมสนุกๆอื่นๆ เช่น พายคายัค หรือนอนค้างคืนไปบนเรือในบรรยากาศสุดโรแมนติก
สำหรับชาวไทยแล้ว พุกาม น่าจะฮิตฮอตที่สุดของมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ได้รับสถานะรับรองจากยูเนสโกในปีนี้ (2019) เพราะอาณาจักรเก่าของเมียนมา ฉายาเจดีย์สองพันองค์ เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักเดินทางชาวไทยมานาน
ใครได้ไปเห็นความวิจิตรของอาณาจักรโบราณ ที่ยังหลงเหลือเจดีย์นับร้อยนับพันท่ามกลางป่าเขาโล่งกว้าง ทาบทาด้วยแสงอาทิตย์อัสดง หรือแสงแรกของวัน ก็ล้วนได้รับความประทับใจกลับมาทั้งนั้น
ในเมืองพุกาม ยังมีวัดวาอารามเก่าแก่ โดยเฉพาะสถานที่สำคัญอันเป็น 1 ใน 5 มหาศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมียนมานับถือ คือ มหาเจดีย์ชเวสิกอง(Shwezigon) ที่วิจิตรอร่ามเรืองด้วยสีทอง หรือจะลองไปล่องเรือสัมผัสวิถีชีวิตริมแม่น้ำอิรวดีก็ล้วนเป็นประสบการณ์น่าจดจำจากเมืองมรดกโลกน้องใหม่แห่งนี้
สองเมืองสำคัญของประเทศมาเลเซีย ที่ราวกับว่าอาคารบ้านเรือนถูกหยุดเวลาเอาไว้ ให้คงความคลาสสิคของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเมื่อหลายร้อยปีก่อน ที่ผสมผสานกันแบบตะวันตกและตะวันออก
ที่นี่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของการค้าขายในสมัยก่อน ทั้งยังกลมกลืนไปด้วยวัฒนธรรมของศาสนา อาหารการกิน เชื้อชาติ ที่หลากหลายอยู่ในเมืองเดียวกัน
กลุ่มปราสาทหินวัดพู ประเทศลาว
การท่องเที่ยวลาวใต้ในแขวงจำปาศักดิ์ คงไม่สมบูรณ์แบบแน่ๆ ถ้ายังไม่ได้มาเยือนปราสาทอิทธิพลขอมอย่าง ปราสาทวัดพู
สถาปัตยกรรมของปราสาทวัดพู โดดเด่นด้วยอารยธรรมผสมผสานกัน โดยสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์เป็นที่ตั้งของอาณาจักรเจนละที่นับถือเทพเจ้า ต่อมาขอมเรืองอำนาจ ก็เข้ามามีอิทธิพลต่อสิ่งก่อสร้างอายุนับพันปี จนกระทั่งอาณาจักรล้านช้างรุ่งเรือง จึงมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเข้ามา
ความงามของกลุ่มปราสาทยังน่าตื่นตาตื่นใจด้วยที่ตั้งบนภูเขาเขียวขจี เดินขึ้นบันไดไปเรื่อยๆเหนื่อยกำลังดี แล้วมองลงมาเบื้องล่าง จะรู้สึกคุ้มค่ากับการไปเยือน
มรดกโลกแห่งแรกของเมียนมา ที่ได้รับสถานะมรดกโลกทางวัฒนธรรม
แม้เมืองแห่งนี้ ไม่โด่งดังเท่าแหล่งท่องเที่ยวเมืองเก่าอื่นของเมียนมา แต่ความเก่าแก่ของพยู ไม่น้อยไปกว่าที่ใด เพราะเป็นถิ่นฐานของชาวพยู ชนเผ่าดั้งเดิมที่ตั้งรกรากตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 4
น่าเสียดายว่า ความยิ่งใหญ่อลังการของอาณาจักรโบราณนี้ อาจไม่หลงเหลืออะไรให้เห็นมากเท่าที่ใครคาดหวังนัก แต่ในแง่คุณค่าทางวัฒนธรรม อาณาจักรแห่งนี้ก็นับเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมให้กับชนชาติเมียนมาในยุคต่อๆมา
หนึ่งในมรดกโลกน้องใหม่ของปี 2019 เป็นของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ คือ หลักฐานทางโบราณคดีที่มีอายุไม่น้อยกว่า 2,000 ปี หินทรงไหขนาดใหญ่ความสูงตั้งแต่ 1-2เมตร กระจายไปทั่วแนวภูเขาในเชียงขวาง
ข้อสันนิษฐานโดยสังเขป ว่ากันว่าอาจเกี่ยวข้องกับพิธีศพ ไม่ก็เป็นไหบรรจุเหล้าที่นำมาฉลองชัยชนะของกษัตริย์ล้านช้าง รวมถึงข้อสันนิษฐานปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่ามหัศจรรย์และลึกลับ รูปแบบเดียวกับสโตนเฮนจ์ ประเทศอังกฤษ