5 สายน้ำสำคัญแห่งอาเซียน

ล่องสายน้ำแห่งชีวิตในเอเชียอาคเนย์
ชีวิตของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผูกพันอยู่กับสายน้ำมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรเพื่อหาเลี้ยงชีพ การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ล้วนเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับสายน้ำทั้งสิ้น แม้วิถีชีวิตในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่แม่น้ำก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและชวนให้เดินทางออกไปค้นหาความงดงามของต้นธารแห่งชีวิตที่มีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แม่น้ำอิรวดี เมียนมา
“อิรวดี” หรือ “เอยาวดี” คือแม่น้ำสายสำคัญของเมียนมาร์ มีความยาวทั้งสิ้น 2,170 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำถึง 404,200 ตารางกิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากภูเขาในรัฐคะฉิ่นทางตอนเหนือสุดของประเทศและไหลลงสู่ทะเลอันดามันบริเวณอ่าวเมาะตะมะ

แม่น้ำอิรวดีไหลผ่านเมืองต่าง ๆ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมียนมาหลายแห่ง ซึ่งสามารถเที่ยวชมได้ด้วยการล่องเรือเพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตท้องถิ่น อาทิ เส้นทางมัณฑะเลย์-มิงกุน ล่องจากชานเมืองมัณฑะเลย์ไปยังหมู่บ้านมิงกุนอันมีสถานที่ท่องเที่ยวควรค่าแก่การเยี่ยมชม ได้แก่ เจดีย์มิงกุน พระราชดำริของพระเจ้าปดุงที่โปรดให้สร้างเจดีย์ที่ใหญ่และสูงกว่าเจดีย์ใด ๆ ในดินแดนสุวรรณภูมิ แต่สร้างไม่เสร็จเนื่องจากเสด็จสวรรคตไปก่อน

ระฆังมิงกุน ระฆังยักษ์ที่น้ำหนักถึง 87 ตัน และเจดีย์ชินพิวมิน อนุสรณ์สถานแห่งความรักของพระเจ้าบากะยีดอว์กับพระมหาเทวีชินพิวมินซึ่งสิ้นพระชนม์ก่อนเวลาอันควร ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ทัชมาฮาลแห่งลุ่มอิรวดี” หรือเส้นทางพุกาม-มัณฑะเลย์ เพื่อชมความน่าอัศจรรย์ใจของภูมิทัศน์เวิ้งว้างกว้างไกลสองฝั่งสายน้ำอันเปรียบเสมือนสายโลหิตหลักของเมียนมา แม่น้ำโขง ไทย-ลาว
สายน้ำอันยิ่งใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความยาวถึงกว่า 4,300 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนหลายล้านคนใน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

แม่น้ำโขงคือตำนานแห่งสายน้ำอันเป็นต้นกำเนิดชีวิตและอารยธรรมแห่งภูมิภาค ความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงทำให้ผู้มาเยือนสามารถเลือกดื่มด่ำกับทัศนียภาพทางธรรมชาติและอิ่มเอมกับบรรยากาศแบบท้องถิ่นของแต่ละวัฒนธรรมในประเทศสองฝั่งโขงได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแพคเกจล่องเรือชมแม่น้ำโขงแบบหรูหรา 3 วัน 2 คืนเส้นทางสามเหลี่ยมทองคำ-หลวงพระบาง ล่องไปกับเรือโดยสารจาก อ.เชียงของไปยังห้วยทราย-หลวงพระบางโดยแวะค้างคืนที่เมืองปากแบง หรือจะนั่งเรือห้วยทราย-ปากแบง-หลวงพระบางรวดเดียวโดยไม่แวะค้างคืนก็ได้ หรือหากต้องการชมธรรมชาติแปลกตาอาจเลือกล่องเรือที่จ.อุบลราชธานี ชมความงามของ “สามพันโบก” แก่งหินที่ได้ชื่อว่าเป็น “แกรนด์แคนยอนแห่งเมืองไทย”​ โตนเลสาบ กัมพูชา
ความพิเศษของ “โตนเลสาบ” หรือทะเลสาบเขมร คือ ขนาดของทะเลสาบที่อาจหดและขยายตัวได้ต่างกันถึง 5 เท่าโดยในฤดูมรสุม โตนเลสาบสามารถขยายตัวได้กว้างครอบคลุมพื้นที่ถึง 12,000 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ในฤดูแล้ง พื้นที่อาจลดลงเหลือราว 2,500 ตารางกิโลเมตร

โตนเลสาบ คือ สายน้ำต้นกำเนิดแห่งสรรพชีวิตของกัมพูชาอย่างแท้จริง โดยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของระบบนิเวศพืช และสัตว์หลากสายพันธุ์ที่ต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ในพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำโขงที่จะไหลบ่ามาในฤดูฝนนี้ให้ได้ราวครึ่งปี ซึ่งหมายรวมถึงผู้คนที่อาศัยสินในน้ำจากโตนเลสาบแห่งนี้หล่อเลี้ยงชีวิตด้วย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนในประเทศเหนือลำน้ำโขง สรรพชีวิตที่พึ่งพาโตนเลสาบกำลังประสบกับความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอู่ข้าวอู่น้ำของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้น ระดับที่น้ำผันผวน จำนวนปลาที่ลดน้อยลง เป็นต้น ทำให้เกิดคำถามว่า วิถีชีวิตดั้งเดิมที่พึ่งพิงทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นจะยังคงอยู่อีกนานเท่าใด แม่น้ำห่ง เวียดนาม
“แม่น้ำห่ง” หรือ “แม่น้ำแดง” คือสายน้ำอันเป็นต้นกำเนิดแห่งชีวิตและวัฒนธรรมของเวียดนาม พัดพาเอาตะกอนทับถมสองฟากฝั่งจนเกิดเป็นที่ราบและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำห่งเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดที่ไหลผ่านกรุงฮานอย หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนผ่านการเกษตรและการขนส่งทางน้ำ ตลอดจนมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยราชธานีทังลองที่มีอายุนับพันปี

นอกจากนาข้าวเขียวขจี ไร่อ้อยและไร่ข้าวโพด ที่ราบลุ่มแม่น้ำห่งยังมีวัดวาอารามและโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง อาทิ วิหารบูชาสองวีรกษัตริย์สตรีพี่น้องฮายบ่าตรึงในเขตเมลิง จังหวัดหวิงฟุกทางตอนเหนือของกรุงฮานอย กำแพงโก๋ลวาที่ได้รับการก่อสร้างเมื่อศตวรรษที่ 3 ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เป็นต้น แม่น้ำเจ้าพระยา ประเทศไทย
ความน่าอัศจรรย์ใจประการหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผู้คนมักนึกไม่ถึง คือ บรรยากาศสองฝั่งน้ำที่เพียงไม่ถึงชั่วโมงกลับแตกต่างกันราวกับคนละประเทศ แม่น้ำเจ้าพระยา คือ สายโลหิตหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย ก่อเกิดเป็นอารยธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สืบทอดกันมายาวนานนับตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

ไร่นาเขียวขจี การประมงพื้นบ้าน บ้านเรือนแบบแพริมน้ำ เครื่องมือเครื่องใช้จากงานหัตถกรรม อาหารจากปลาน้ำจืด หรือแม้แต่เรือโยงขนทราย เรือเดินสมุทรน้ำลึก ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีต้นกำเนิดหรือต้องพึ่งพาแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสิ้น

เพียงราวหนึ่งชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือสู่จ.นนทบุรี ทัศนียภาพสองฝั่งจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป จากอาคารสูงเสียดฟ้ากลายเป็นหมู่ยอดไม้เขียวครึ้ม ลำน้ำที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ  บ้านเรือนริมสองฝั่งที่ใช้ชีวิตทั้งทางน้ำและทางบก และหากไปถึงเกาะเกร็ดก็จะได้สัมผัสวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายมอญที่ยังคงสืบทอดถึงคนรุ่นปัจจุบัน

You May Also Like