จอร์จทาวน์ มรดกจากอดีตสู่ปัจจุบัน

เมืองมรดกโลกมาเลเซีย ที่เหมาะแก่การเดินเที่ยว
อาคารพาณิชย์สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส กลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมจีน-ตะวันตก รวมกันนับร้อยๆหลังเบียดเสียดราวกับเป็นจิ๊กซอว์ที่แนบสนิทไร้ช่องว่าง เรียงตามแนวถนนสายเล็กๆที่ยังแบ่งซอกซอยอีกนับไม่ถ้วน บางหลังตกแต่งทาสีใหม่อวดโครงสร้างเดิมที่สวยงามอยู่แล้วให้ยิ่งสะดุดตา ปรับปรุงให้เป็นที่พักหรือร้านค้าร่วมสมัย บางหลังมีร่องรอยการกัดกร่อน สีกระเทาะร่อนเป็นลวดลายจากกาลเวลา หรือบางหลังก็ถูกทิ้งร้าง แต่ก็ยังน่าหลงใหลไม่ต่างจากของเก่าที่ยิ่งมองยิ่งขลัง จุดเริ่มต้นการกระจุกรวมตัวของอาคารเก่าสุดคลาสสิคเหล่านี้ ต้องย้อนอดีตไปสู่การเดินทางของ เซอร์ ฟรานซิส ไลท์ (Sir Francis Light) กัปตันเรือและพ่อค้าชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1786 ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเกาะซึ่งชาวท้องถิ่นเรียกว่า ปูเลาปีนัง อันหมายถึงต้นหมากที่ขึ้นเต็มไปทั้งเกาะ

กัปตันชาวตะวันตกตั้งใจจะเช่าเกาะจากสุลต่านเพื่อใช้ทำการค้า และเป็นท่าเรือของบริษัท British East India ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การค้าขายในภูมิภาคนี้ให้กับประเทศอังกฤษ เมื่อข้อตกลงในครั้งนั้นราบรื่น กัปตันไลท์ สร้างอาณาจักรเล็กๆบริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น Prince of Wales Island และจูงใจนักค้าขายด้วยการเป็นท่าเรือปลอดภาษี
ชุมชนจึงเริ่มขยายตัวมากขึ้น พ่อค้าทั้งชาวจีน ชาวท้องถิ่น แรงงานชาวอินเดีย ต่างหลั่งไหลเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอย่างคึกคัก ก่อนที่ศูนย์กลางการค้าแห่งนี้จะเปลี่ยนชื่อเป็น เมืองจอร์จทาวน์ (Georgetown) ตั้งเพื่อเป็นเกียรติตามพระนามของพระเจ้าจอร์จที่ 3 และต่อมาเกาะปีนังก็กลายเป็นอาณานิคมอังกฤษไปพร้อมกับการที่จอร์จทาวน์เป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนได้รับฉายาให้เป็นไข่มุกแห่งดินแดนตะวันออก หลังจากนั้นเข็มนาฬิกาของประวัติศาสตร์ก็ดูจะเดินสวนทางกับการเติบโตของจอร์จทาวน์ เพราะภายหลังเมืองเฟื่องฟูได้ไม่นาน เมืองท่าอย่างเกาะสิงคโปร์ก็ช่วงชิงคะแนนความนิยมไปดื้อๆ ซ้ำด้วยผลพวงของสงครามโลกครั้งที่สองในศตวรรษถัดมา ก็ยิ่งทำให้จอร์จทาวน์ซบเซาลงไปกว่าเดิม แม้ว่ามาเลเซียประกาศอิสรภาพหลังสงครามโลกได้ไม่นาน ก็ยังไม่เป็นผลให้กลับมาคึกคักได้เทียบเท่าอดีต แต่นับเป็นความโชคดีที่สงครามไม่ได้ทำลายทุกสิ่งของจอร์จทาวน์ เพราะอาคารบ้านเรือนเก่า วัดจีน มัสยิด อาคารที่ทำการสมัยอาณานิคม ตลอดจนวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนบนเกาะปีนัง ยังคงดำเนินเรื่อยไปอย่างเงียบๆ ราวกับจำศีลเพื่อรอเวลาผงาดขึ้นอีกครั้ง และก็เป็นการรอคอยที่คุ้มค่า เมื่อจอร์จทาวน์เฉิดฉายเป็นดาวเด่นในปี ค.ศ. 2008 ถูกยกเป็นเมืองมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (คู่กับมะละกา) ในฐานะเมืองเก่าที่มีพหุวัฒนธรรมตกทอดมากว่าศตวรรษ “เมื่อก่อนคนในปีนังมีฐานะยากจน ที่ดินราคาไม่สูง ย่านเมืองเก่าก็เงียบเชียบมากเลย” Terry Goh เจ้าของเกสต์เฮ้าส์ Carnarvon House เอ่ยขึ้น
ที่ตั้งของเกสต์เฮ้าส์สไตล์จีนโบราณของ Terry อยู่ในพื้นที่กันชน หรือ Buffer Zone ซึ่งมีความสำคัญในแง่ของการเป็นเขตป้องกันไม่ให้มีการก่อสร้างอาคารใหม่ที่จะไปกระทบเขตพื้นที่มรดกโลกชั้นใน (Core Zone) ดังนั้นเกสต์เฮ้าส์เล็กๆริมถนนของเขา ก็เป็นหนึ่งในอาคารเก่าที่มีอายุกว่าร้อยปีเหมือนกับอีกหลายแห่งในเมือง

“วันนี้จอร์จทาวน์ เจริญขึ้นมากหลังจากการเป็นมรดกโลก แต่การเปลี่ยนแปลงก็ยังเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป” Terry บอก ปัจจัยสำคัญที่เมืองเก่าเกลื่อนกระจายไปด้วยอาคารจากยุคอาณานิคม เนื่องจากไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้อย่างก้าวกระโดด เพราะอาคารทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การดูแลขององค์การยูเนสโก “ในเขตมรดกโลก มีการจัดระเบียบและข้อกำหนดต่างๆ คุณจะทุบทิ้งสร้างตึกใหม่ไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมายเลยล่ะ” นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ช่วยรักษาสภาพของอาคารให้มีเสน่ห์ไม่ต่างไปจากยุคก่อน

ด้วยความเป็นนักเดินทาง และชื่นชอบการทำธุรกิจที่พัก Terry ตัดสินใจย้ายเข้ามาเช่าตึกเก่าเพื่อรีโนเวทเป็นเกสต์เฮ้าส์ได้กว่า 2 ปีที่ผ่านมา “แม้ไม่ได้ทำเงินมากมาย แต่ผมก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีนะ การทำให้แขกพอใจก็เป็นความรู้สึกที่ดีแล้ว ผมเดินทางบ่อย ได้แรงบันดาลใจเกสต์เฮ้าส์จากเชียงใหม่ ที่ทำได้ดีในระดับโลก ก็อยากทำให้จอร์จทาวน์เป็นแบบนั้นบ้าง” โรงแรม เกสต์เฮ้าส์ ร้านอาหาร หรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในเขตเมืองเก่า ดำเนินกิจการไปในรูปแบบเดียวกัน คือ มีเจ้าของบ้านเดิมที่ถือครองสิทธิ์อาคารพาณิชย์ แล้วแบ่งให้คนอื่นเช่าตามระยะสัญญา สิ่งที่ผู้เช่าสามารถทำได้ คือ การตกแต่งภายใน แต่ห้ามเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือแม้แต่การซื้อขายขาด ก็ยังต้องทำตามข้อกำหนดของอาคารอนุรักษ์ในฐานะมรดกโลก

“ตอนนี้บ้านหนึ่งหลังราคาซื้อขาย ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท เผื่อว่าคุณสนใจนะครับ” Terry คำนวณเป็นเงินไทยให้เสร็จสรรพ

You May Also Like