สะพานรากไม้แห่งชีวิตในหุบเขากาสี

การเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างชาญฉลาดในอินเดีย
น้ำหลากจากมรสุมเป็นความจริงของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้บนเทือกเขาซึ่งทอดตัวไปตามชายแดนบังคลาเทศแห่งนี้ แต่ชนเผ่าท้องถิ่นในอินเดียก็ได้คิดค้นวิธีแก้ปัญหาในแบบฉบับของพวกเขาเองได้อย่างชาญฉลาด

หมอกหนาลอยตัวปกคลุมเนินป่าแห่งเทือกเขากาสี (Khasi Hills) ขณะที่ชาวบ้านหมู่บ้าน Nongriat กำลังเตรียมตัวออกไปทำงาน พวกผู้ชายมุ่งหน้าออกไปทำไร่นามีถุงกระสอบแขวนไว้บนไหล่ มีดสปาร์ตาห้อยไว้ที่ผ้าคาดเอว ส่วนพวกผู้หญิงตระเตรียมอาหารเช้าหรือไม่ก็เดินลงไปยังแม่น้ำเพื่อซักผ้า เสียงของป่าดังก้องท่ามกลางอากาศร้อนชื้น มีทั้งเสียงนกร้องเสนาะหู เสียงนกเงือกแหบปร่า และชะนีห้อยโหนไปตามหุบเขาเป็นครั้งคราว แต่ในบรรดาเสียงต่างๆ มีอยู่เสียงหนึ่งที่ดังอยู่เบื้องหลังราวกับเสียงดนตรีประกอบ นั่นก็คือเสียงน้ำไหล สำหรับคนที่นี่ ชีวิตเวียนวนอยู่กับสายน้ำ น้ำฝนจากที่ราบสูงซิลลอง ไหลลู่ลงมาตามกำแพงหุบเขาลึก ให้ความชุ่มชื่นแก่เทือกสวนไร่นาและเป็นแหล่งน้ำดื่มที่ไม่มีวันเหือดแห้งของชาวบ้าน

ตอนนี้เป็นหน้าแล้ง แม่น้ำและน้ำตกต่างๆ รอบหมู่บ้าน Nongriat ต่างแห้งเหือด แต่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อฝนแรกมาเยือนและฤดูมรสุมเริ่มขึ้น บรรยากาศจะกลายเป็นคนละเรื่องกันเลย แม่น้ำที่แห้งเหือดกลับเชี่ยวกรากและดุดันยังกับสัตว์ป่า เทือกเขากาสีทอดตัวไปตามชายแดนทางใต้ของรัฐเมฆาลัย (Meghalaya) ของอินเดีย มองลงไปเห็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของบังคลาเทศ เทือกเขาแห่งนี้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ชื้นแฉะที่สุดในโลก ในช่วงฤดูมรสุมระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พื้นที่แถบนี้จะมีมรสุมที่หนักที่สุดในโลกเข้าหลายต่อหลายครั้ง ที่นี่จะมีปริมาณน้ำฝน 12 เมตรโดยเฉลี่ยทั้งปี! ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำฝนของลอนดอนถึง 16 เท่า

เมืองเชอร์ราปุนจี (Cherrapunjee) ในบริเวณใกล้เคียงยังครองสถิติปริมาณน้ำฝนที่สูงที่สุดในหนึ่งปี นั่นคือ 26.4 เมตรในช่วงปีค.ศ.1860–1861 ในช่วงน้ำหลาก แม่น้ำต่างๆ ในบริเวณนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติเป็นสามหรือสี่เท่า ลำธารกลายเป็นสายน้ำไหลแรง กระแสน้ำไหลเอื่อยกลายเป็นเชี่ยวกราก

แต่ชนเผ่า War Khasi ก็ได้คิดค้นวิธีแก้ปัญหาไว้อย่างชาญฉลาด โดยสร้างสะพานมีชีวิตจากรากต้นยาง ที่เรียกมันว่า Ritymmen หรือ ‘สะพานรากยาว’ สะพานทอดตัวพาดสองฟากฝั่งโดยปลายสะพานแต่ละฝั่งมีต้นยางยักษ์ตั้งอยู่ ราวและรางสะพานสร้างขึ้นจากรากของต้นไม้ดังกล่าวซึ่งถูกสานทอเข้าไว้ด้วยกัน ราวกับเกลียวสายเคเบิลเหล็ก พวกมันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก สะพานนี้เป็นสะพานรากไม้ที่ยาวที่สุด โดยมีความยาว 95 ฟุต คนท้องถิ่นคิดว่ามันมีอายุถึง 200 ปี รอดจากมรสุมมาได้ ครั้งแล้วครั้งเล่า บนเทือกเขากาสีมีสะพานแบบนี้ 9 แห่ง

การสร้างสะพานดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ต้องใช้แรงงานมาก แม้แต่สะพานที่สร้างเร็วที่สุด กว่าจะสร้างเสร็จยังต้องใช้เวลาถึงสองทศวรรษ อีกทั้งยังต้องคอยดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าพวกมันจะยังแข็งแรงพอ ที่จะอยู่รอดจากการโจมตีของมรสุม

แต่เมื่อไหร่ที่มันสร้างเสร็จ สะพานเหล่านี้จะอายุยืนมาก สะพานที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุยืนนานกว่า 5 ศตวรรษ สะพานส่วนใหญ่เป็นสะพานรางเดี่ยว แต่มีอยู่แห่งหนึ่งมีรางสองชั้น นั่นก็คือสะพาน Double Decker ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน Nongriat และขณะนี้กำลังว่ากันว่ากำลังมีการสร้างชั้นที่สาม 

You May Also Like