ที่รู้จักกันในนาม ‘the Tiger’s nest’ อยู่นอกเมืองพาโรออกไป มีตำนานเล่าว่ากูรู รินโปเช่ (Guru Rinpoche) ผู้นำศาสนาพุทธมาสู่ภูฏาน เคยเหาะมาบนหลังเสือเพื่อมาปฏิบัติธรรมในถ้ำบนเนินเขาแห่งนี้
การเดินทางสู่วัดทักซังก็ต้องพึ่งความพยายามไม่น้อยดังที่หลายคนร่ำลือ เพราะนอกจากศรัทธาอันแรงกล้าแล้วยังต้องใช้กำลังขาที่แข็งแกร่งในการขึ้นเขาบนทางชันและอากาศที่บางเบากว่าปกติราวสองชั่วโมง ซึ่งแม้ว่าการขี่ม้าจากตีนเขาจะเป็นทางเลือกช่วยผ่อนแรงไปได้ครึ่งทาง แต่ก็ยังต้องเดินขึ้นลงบันไดอีกหลายขั้นต่อจนไปถึงศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์
กลางทิวทัศน์ที่อลังการของเทือกเขาและยอดป่าสน คือ วิหารสีขาวมีเครื่องยอดบนหลังคาสีทอง ตั้งอยู่อย่างหมิ่นเหม่บนเชิงผาสูงดูน่าอัศจรรย์ยิ่ง กำแพงสีขาวโพลนของอารามโดดเด่นออกมาจากผาหินที่ตัดตรง คล้ายกับว่าวิหารนั้นล่องลอยได้ในอากาศ ริ้วธงภาวนาหลากสีสันที่ยึดโยงไว้เหนือหน้าผาสูงปลิวสะบัดด้วยสายลมส่งเสียงพึมพำฟังคล้ายใครมากระซิบบทสวดมนต์อยู่ที่ใดสักแห่ง
คงไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากความอุตสาหะและพลังศรัทธาอันแรงกล้าเท่านั้น จึงเนรมิตสิ่งอารามศักดิ์สิทธิ์แสนอัศจรรย์บนหน้าผาท่ามกลางป่าเขาเช่นนี้ได้
Kuensel Phodrang หรือเรียกว่า Buddha point ตรงยอดเขาสูงของเมืองทิมพู มีพระพุทธรูปองค์มหึมาสูงกว่า 50 เมตร ประทับนั่งเหนือยอดเขาเห็นได้แต่ไกล นอกจากเป็นที่สักการะบูชาแล้ว ตรงจุดนี้ยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงามของเมืองทิมพู สามารถมองเห็นภูเขาหิมะได้ไกลๆในวันที่ท้องฟ้าใส
สูดอากาศบริสุทธิ์พร้อมชมทิวทัศน์แบบพานอรอมา ยามที่ฟ้าเปิดที่จุดชมวิวดอจูลา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองพาโรกับเมืองพูนาคา บนเส้นทางที่คดโค้งสดสวยจับใจ และชมสถูป 108 องค์ ที่สร้างตรงจุดนี้เป็นอนุสรณ์ถึงวีรกรรมการรบในสมรภูมิภาคใต้ของภูฏานเมื่อปี 2003
วัดศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสร้างอุทิศให้กับนักบุญในตำนานที่ศรัทธาในหมู่ชาวภูฏาน คือ Drukpa Khunley ผู้ที่มีอารมณ์ขัน มีการแต่งกายและพฤติกรรมแหวกแนวจากนักบวชทั่วไป จนได้ฉายาว่า “คนบ้าจากสรวงสวรรค์”
นอกจากเรื่องราวลือลั่นในการปราบปีศาจร้ายแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่ใช้ร่ายมนต์เสก ทาคิน (Takin) สัตว์ประจำชาติของภูฏานให้มีชีวิตขึ้นมาจากหัวของแพะและโครงกระดูกของวัว ( หาชมสัตว์จากตำนานอันเหลือเชื่อตัวเป็น ๆ นี้ได้ที่สวนสัตว์ในทิมพู )
การเข้าถึงวัดแห่งนี้ได้ไม่มีหนทางใดอื่นนอกจากการเดินเท้าจากถนนที่หมู่บ้าน Sopsokha ผ่านหุบเขา Leboca ที่งดงาม เลาะไปตามคันนาราวครึ่งชั่วโมงจึงถึงเนินเขาอันเป็นที่ตั้งของวัด ผู้มาเยือนอาจได้รับการประสาทพรจากคันศรอันศักดิ์สิทธิ์และปลัดขิกของท่าน Drukpa Khunley โดยการทำพิธีของลามะในวิหารซึ่งเชื่อว่าจะนำความสุขสมบูรณ์มาให้ ชาวภูฏานนั้นรู้กันดีว่าวัดนี้เป็นที่พึ่งทางใจของผู้ที่มีบุตรยาก จึงมักจะพบเห็นคู่รักพากันมาสักการะขอพรจากท่าน Drukpa Khunley เพื่อขอทายาทสืบสกุลเสมอมา
ปราการที่ยาวที่สุดในภูฏาน คือ อีกตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่ท้าทายภูมิประเทศอันสุดโต่ง ตัวปราการสร้างขึ้นริมผาที่สูงชันที่มีแก่งน้ำทรองซาที่ไหลเชี่ยวในหุบลึกเบื้องล่าง
ที่นี่คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญใจกลางแห่งภูฏานในการควบคุมเส้นทางจากตะวันตกและตะวันออก ประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่ากษัตริย์องค์แรกและองค์ที่สองแห่งภูฏานทรงบริหารราชการแผ่นดินจากปราการแห่งนี้ รวมทั้งมงกุฎราชกุมารยังต้องดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแห่งทรองซา (Trongsa Penlop) ตามธรรมเนียมก่อนที่จะได้ขึ้นครองราชสมบัติ
ภายในป้อมปราการแบ่งเป็นของศูนย์บริการราชการ และส่วนของศาสนวิหาร นอกจากนี้ที่หอสังเกตุการณ์ประจำซองก์ ที่อยู่สูงขึ้นไปอีกฝากถนนได้รับการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานพุทธศิลป์ และประวัติศาสตร์ราชวงศ์ที่ไม่ควรพลาดชม เมืองทรองซานั้นทอดยาวไปตามไหล่เขา เมืองใจกลางแห่งภูฏานนี้มีที่พักหลายแห่งเพื่อผู้พักแรมจากการเดินทางที่ยาวนานบนถนนคดเคี้ยวสู่ภาคตะวันตกและตะวันออกของภูฏาน
ตั้งตระหง่านกลางภูมิทัศน์ที่สวยงามแห่งพูนาคา ช่วงเมษายนจนถึงพฤษภาคม ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดของการมาเยือนปราการแห่งพูนาคา เมื่อดอกศรีตรังเบ่งบานเต็มที่
พูนาคาซองก์หรือที่เรียกกันว่าพระราชวังแห่งความสุข สร้างขึ้นมานับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ส่วนแรกซึ่งใช้เป็นสำนักงานบริหารราชการ ถัดไปคือส่วนสังฆาวาสที่บรรดาเหล่าพระนักบวชใช้เป็นที่ศึกษาพระธรรมวินัย และส่วนสำคัญอยู่บริเวณลานด้านใต้ คือ อาคารที่เก็บสังขารศักดิ์สิทธิ์ของท่านซับดรุง นาวัง นัมเกล บุคคลสำคัญแห่งภูฏานผู้ที่สร้างซองก์นี้ขึ้น