ยอดเขารินจานี ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งลอมบอก

พิชิตภูเขาไฟที่สูงเป็นอันดับสองของอินโดนีเซีย
ยอดเขาดำทะมึนแห่งนี้ กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของวิวเส้นขอบฟ้าทางตอนเหนือของลอมบอก การได้ขึ้นไปถึงยอดเขานี้ นับเป็นความสำเร็จแบบครั้งหนึ่งในชีวิต

กลางดึกบนภูเขารินจานี (Mount Rinjani) มีเสียงเดียวที่ได้ยินคือ เสียงย่ำรองเท้าบู๊ท และลมหายใจหนักหน่วงของบรรดานักปีนเขา คืนนี้ไม่มีดวงจันทร์ มีเพียงแสงจากหมู่ดาว และไฟฉายบนศีรษะซึ่งเรียงตัวสูงต่ำเป็นคลื่นอยู่บนไหล่เขา ดูราวกับแสงไฟในนิทาน ริ้วแสงสีแดงเรื่อเรืองขึ้นตามเส้นขอบฟ้านั้น บ่งบอกว่ารุ่งทิวาใกล้เข้ามาแล้ว แต่กว่าจะถึงยอด ยังต้องเดินเป็นระยะทางอีกหลายร้อยเมตร ภูเขารินจานีตั้งตระหง่านอยู่เหนือชายฝั่งทางเหนือของลอมบอก ด้วยมีความสูงถึง 3,726 เมตร ทำให้มันเป็นภูเขาไฟที่สูงเป็นอันดับสองของอินโดนีเซีย เป็นรองเพียงแค่ภูเขาเครินชิ (Mount Kerinci) บนเกาะสุมาตรา

ภูเขาแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนไฟ (Ring of Fire) ซึ่งเป็นจุดที่แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย แปซิฟิก และอินโด-ออสเตรเลียบรรจบกัน และก่อให้เกิดรอยแยกขึ้นบนเปลือกโลก มีภูเขาปะทุเป็นประจำ โดยล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2016 แต่สำหรับเขารินจานีนั้น การปะทุเกิดขึ้นมานานมากแล้ว ในปี ค.ศ.1257

ยอดเขารินจานีส่วนใหญ่เกิดการระเบิด เหลือไว้เพียงแอ่งภูเขาไฟรูปกระจาดกว้างใหญ่ ซึ่งปัจจุบันนี้กลายเป็นทะเลสาบ Segara Anak หรือ ‘เด็กแห่งท้องทะเล’ โดยตั้งชื่อตามสีเทอร์คอยซ์สุกสว่างของน้ำในทะเลสาบ การปะทุครั้งนั้นรุนแรงมาก จนส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และอาจถึงกระทั่งจุดประกายให้เกิดยุคน้ำแข็งย่อมๆ แต่กระนั้นก็ไม่มีสัญญาณใดว่าเขารินจานีจะระเบิดอีกครั้ง แต่จะอย่างไรก็คงอดรู้สึกตื่นเต้นระคนหวาดกลัวไม่ได้ที่ได้รู้เรื่องนี้ ขณะจ้องมองไปที่ภูเขาไฟบารูจารี (Gunung Barujari) ทรงโคนสีดำทะมึนที่เพิ่งเกิดใหม่ แล้วคิดว่ามันจะระเบิดอีกทีเมื่อไหร่ ภูเขาแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ในหมู่คนบาหลีจำนวนมาก ซึ่งมักมาที่นี่ทุกปีเพื่อประกอบพิธีที่เรียกว่า  pelekan ซึ่งเป็นการนำของมาเซ่นไหว้ทะเลสาบเพื่อสักการบูชาเทพเจ้า แต่ทุกวันนี้ ผู้ที่มาภูเขารินจานีส่วนใหญ่จะเป็นนักเดินเขา การเดินขึ้นใช้เวลาสองวัน วันแรกคือการปีนไปถึงขอบแอ่งภูเขาไฟ ที่ความสูงประมาณ 2,700 เมตร ซึ่งจะเป็นจุดที่นักเดินทางจะตั้งค่ายพักแรม

จากนั้นในรุ่งสางวันถัดไป ก็ปีนขึ้นไปเพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดเขา มันเป็นการปีนเขาที่เหนื่อยล้า และทำให้แข้งขาอ่อนเปลี้ย เพราะต้องปีนผ่านภูมิประเทศแบบต่างๆ ในคราวเดียว เริ่มจากทุ่งหญ้าแบบสะวันนาต่อไปยังป่าชื้น และเข้าไปยังดินแดนที่เต็มไปด้วยขี้เถ้าสีดำ หิน และกองเศษหิน ราวกับหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ซึ่งจะนำทางไปสู่ยอดเขาทรงโคนที่เป็นหินสูงชัน ตลอดทางจะได้ยินเสียงลิงสีเทาส่งเสียงทักทายอยู่ท่ามกลางกองหิน อีกทั้งมีดอกกล้วยไม้ และดอกไม้ป่าบานสะพรั่งตลอดเส้นทางเดิน และบางครั้งก็จะเห็นเหยี่ยวดงบินวนอยู่ข้างบน ในทุกฤดูกาลจะมีนักปีนเขาประมาณ 60,000 คน พยายามปีนขึ้นเขาดังกล่าว แต่มีเพียงผู้ที่มีความตั้งมั่นที่สุดเท่านั้น ที่สามารถปีนขึ้นถึงยอดเขาได้ เมื่อฟ้าเริ่มสาง นักปีนเขากลุ่มแรกของวันนี้ก็เดินทางมาถึง และท้องฟ้าก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม ม่วง และส้มตามลำดับ ผู้คนโพสท่าถ่ายรูปกับป้ายบนยอดเขา ขณะที่ไกลออกไป หมอกค่อยๆ ม้วนตัวขึ้นเหนือเกาะ ดูราวกับคลื่นสีขาว และท้องน้ำอันราบเรียบของทะเลสาบ Segara Anak ก็ส่องประกายราวกับแผ่นเหล็กที่ขัดจนมันวาว Make it happen 
ใกล้ๆ หมู่บ้านเซนารู (Senaru) และเซมบาลุน มีบริษัทนำเที่ยวหลายแห่ง แต่สิ่งสำคัญคือ การเลือกผู้ให้บริการนำปีนเขาที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมีชื่อเสียงที่สัญญาว่า จะเก็บขยะของตนกลับลงมาด้วย เนื่องจากขยะและสุขอนามัย เริ่มกลายเป็นปัญหาขึ้นเรื่อยๆ บนเขารินจานี บริษัท Royal Rinjani Tour เป็นผู้ให้บริการท้องถิ่น และมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ภูเขานี้ไว้
ทัวร์แบบมีไกด์สองวัน รวมอาหารและค่ายพักแรมเริ่มต้นที่ 10,200 บาท; royalrinjanitour.com

You May Also Like