บ้านดินมู่หลาน – บ้านดินถู่โหลวแห่งฝูเจี้ยน

สถาปัตยกรรมที่อยู่ยงคงกระพันที่สุดในจีน
อาคารรูปทรงแปลกตา หนึ่งในแหล่งวัฒนธรรมมรดกโลกที่มีความเป็นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ด้วยภูมิปัญญาของชาวฮกเกี้ยน หรือ จีนแคะ ทำหน้าที่เป็นทั้งป้อมปราการและที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่โต ตั้งอยู่ทั่วพื้นที่ขนาด 1,962 ตารางกิโลเมตรของ อ.หนานจิ้ง เมืองจางโจว มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน ปัจจุบันนี้บ้านดินอายุนับร้อยปีทั้งหมด 57 หลัง มีอยู่ 20 หลังที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก การสร้างบ้านดิน มีทั้งแบบอาคารทรงกลมและทรงเหลี่ยม มีบ่อน้ำตั้งอยู่ตรงกลางตามหลักฮวงจุ้ย ตั้งอยู่ตามแนวภูเขาสูง ใช้ดิน ไม้ หิน และไม้ไผ้ เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง พร้อมโครงสร้างที่ทนทานต่อแผ่นดินไหว กำแพงของบ้านดินมีความหนากว่า 1 เมตร เพื่อช่วยป้องกันลมพายุรุนแรง และยังช่วยคงอุณหภูมิภายในบ้านดินให้มีอากาศที่อบอุ่นในฤดูหนาว และไม่ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน หมู่บ้านเถียนหลัวเคิง รู้จักกันในนาม “ข้าวสี่จานซุปหนึ่งถ้วย” เพราะเป็นกลุ่มบ้านดินทรงกลมจำนวน 4 หลัง แทนจานข้าว 4 จาน และอาคารสี่เหลี่ยมอยู่ตรงกลาง แทนซุป 1 ถ้วยนั่นเอง และอีกหนึ่งการเปรียบเทียบเมื่อมองลงมาจากด้านบน ก็จะมีลักษณะเหมือนกับดอกเหมยฮัว ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติอีกด้วย
การก่อสร้างลักษณะนี้แสดงถึงวัฏจักรการกำเนิดของธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ทอง ไม้ น้ำ ดิน ไฟ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของจีนได้เป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมจากยูเนสโก บ้านดินอี้ชางโหล่ว มีอายุกว่า 700 ปี นับได้ว่าเป็นบ้านดินที่เก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ มีลักษณะเป็นอาคารทรงกลม ภายในมีขนาด 5 ชั้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 36 เมตร มีห้องทั้งหมด 270 ห้อง และมีบ่อน้ำถึง 22 บ่อ ตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไปจะเห็นว่าเสาภายในนั้นมีความลาดเอียงอยู่ถึง 210 ท่อน เสาที่เอียงที่สุดนั้น เอียงถึง 15 องศา แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมที่แข็งแกร่งแม้จะผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน บ้านดินหวนเหยียนโหล่ว คือบ้านดินที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1905 และยังเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมบ้านดิน ที่ใช้เทคนิคของการสร้างกำแพงเอียง ใช้หินและดินอัดที่มีคุณภาพ มีลวดลายแกะสลักบนคานและภาพวาดบนผนังที่สะท้อนถึงแนวคิดขงจื้อ บ้านดินแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยความหมายและเอกลักษณ์มากมาย

You May Also Like