ภูฏาน ราชอาณาจักรเหนือม่านเมฆ

5 สถานที่ไม่ควรพลาดชมในดินแดนแห่งความสุข
พาโร ซองก์ (Rinpung Dzong)
สถาปัตยกรรมภูฏานรูปทรงสี่เหลี่ยมน่าเกรงขามด้วยกำแพงสูงสีขาวที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ แต่เหมือนกับมีมนต์สะกดเรียกให้เราเข้าไปเยือน นั่นคือ พาโร ซองก์ (Rinpung Dzong) ที่อยู่สูงขึ้นไปบนเนินเขา

นับตั้งแต่อดีตนั้นจะมีการสร้างป้อมปราการตรงจุดยุทธศาสตร์ตามหัวเมืองใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญในฐานะศูนย์อำนาจทางการเมือง การศาสนา และการป้องกันแว่นแคว้น จนกระทั่งเมื่อภูฏานเป็นปึกแผ่นแล้วซองก์เหล่านี้ยังถูกใช้เป็นศูนย์บริหารงานของจังหวัดและศาสนสถานต่อมา

ปราการแห่งพาโรแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1646 โดยซับดรุง นาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyel )’ มหาบุรุษผู้ซึ่งคนต่างสยบแทบเท้า’  ท่านคือบุคคลผู้ทรงคุณูปการณ์ในสร้างบูรณาการ และประวัติศาสตร์แห่งรัฐชาติให้กับภูฏาน รวมทั้งมีบทบาทสำคัญด้านอื่น เช่นเป็นผู้เผยแผ่ให้พุทธศาสนาสาย Drukpa Kagyu ในนิกายวัชรญาณเจริญงอกงามจนกลายเป็นศาสนาประจำชาติ ไปจนถึงการริเริ่มเครื่องแต่งกายพื้นเมือง คือ ชุดโกและกีร่า ที่ชาวภูฏานสวมใส่

สำหรับชาวภูฏานแล้วท่านเป็นดั่งเทพบิดรศิกดิ์สิทธิ์ ซึ่งพบรูปเคารพของท่านประดิษฐานเคียงข้างกับองค์พระศากยมุณี และกูรูรินโปเช่ในศาสนสถานหรือแม้บนภาพแขวนทังกา (Thanka)ที่ผู้คนสักการะทั่วไป วัดทักซัง ( Taktsang Monastery)
เมืองพาโรยังเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากเป็นที่ตั้งของ ศาสนสถานที่มีชื่อเสียงนอกเมืองซึ่งตั้งอยู่บนเชิงผาสูงชัน อันได้แก่ วัดทักซัง ( Taktsang Monastery) ที่รู้จักกันในนาม ‘the Tiger’s nest’ เนื่องจากตำนานเล่าว่าท่านกูรูรินโปเช่ (Guru Rinpoche) ผู้นำศาสนาพุทธมาสู่ภูฏานเคยเหาะมาบนหลังเสือเพื่อมาปฏิบัติธรรมในถ้ำบนเนินเขาแห่งนี้

หากการขึ้นสวรรค์นั้นต้องอาศัยการบำเพ็ญเพียรความดีอย่างมากแล้ว การเดินทางสู่วัดทักซังก็ต้องพึ่งความพยายามไม่น้อยดังที่หลายคนร่ำลือ เพราะนอกจากศรัทธาอันแรงกล้าแล้วยังต้องใช้กำลังขาที่แข็งแกร่งในการขึ้นเขาบนทางชันและอากาศที่บางเบากว่าปกติราวสองชั่วโมง ซึ่งแม้ว่าการขี่ม้าจากตีนเขาจะเป็นทางเลือกช่วยผ่อนแรงไปได้ครึ่งทาง แต่ก็ยังต้องเดินขึ้นลงบันไดอีกหลายขั้นต่อจนไปถึง

ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์กลางทิวทัศน์ที่อลังการของเทือกเขาและยอดป่าสน คือวิหารสีขาวมีเครื่องยอดบนหลังคาสีทองตั้งอยู่อย่างหมิ่นเม่บนเชิงผาสูงดูน่าอัศจรรย์ยิ่ง กำแพงสีขาวโพลนของอารามโดดเด่นออกมาจากผาหินที่ตัดตรงคล้ายกับว่าวิหารนั้นล่องลอยได้ในอากาศ ริ้วธงภาวนาหลากสีสันที่ยึดโยงไว้เหนือหน้าผาสูงปลิวสะบัดด้วยสายลมส่งเสียงพึมพำฟังคล้ายใครมากระซิบบทสวดมนต์อยู่ที่ใดสักแห่ง คงไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากความอุตสาหะและพลังศรัทธาอันแรงกล้าเท่านั้นจึงเนรมิตรสิ่งอารามศักดิ์สิทธ็ที่แสนอัศจรรย์บนหน้าผาท่ามกลางป่าเขาเช่นนี้ได้ พูนาคาซองก์ (Punakha Dzong)
พูนาคาซองก์ (Punakha Dzong) ซึ่งตั้งตระหง่านกลางภูมิทัศน์ที่สวยงามแห่งพูนาคาได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งสูญเปล่าเพราะมันกลับช่วยแต้มสีสันให้ปราการอันได้ชื่อว่าสวยที่สุดในภูฏานนี้ให้งามยิ่งขึ้นไปอีกในช่วงเมษายนจนถึงพฤษภาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดของการมาเยือนปราการแห่งพูนาคาเมื่อดอกศรีตรังเบ่งเบานเต็มที่

พูนาคาซองก์หรือที่เรียกกันว่าพระราชวังแห่งความสุข สร้างขึ้นมานับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ตรงทางเข้ามีรูปวาดเท้าจตุโลกบาลบนผนัง ส่วนแรกซึ่งใช้เป็นสำนักงานบริหารราชการ ถัดไปคือส่วนสังฆาวาสที่บรรดาเหล่าพระนักบวชใช้เป็นที่ศึกษาพระธรรมวินัย และส่วนสำคัญอยู่บริเวณลานด้านใต้ คืออาคารที่เก็บสังขารศักดิ์สิทธิ์ของท่านซับดรุง นาวัง นัมเกล บุคคลสำคัญแห่งภูฏานผู้ที่สร้างซองก์นี้ขึ้น

ภายนอกอาคารนี้ได้รับการดูแลอย่างเคร่งครัด โดยมีเพียงกษัตริย์และสังฆราชที่ผ่านเข้าไปภายในได้ พูนาคาซองก์นั้นมีความสำคัญยิ่งเพราะกษัตริย์ทุกพระองค์ต้องเสด็จมาทรงรับผ้าคล้องพระศอจากสังขารของท่านซับดรุงนี้ในพิธีราชาภิเษก ปราการแห่งนี้ยังเป็นที่พำนักในฤดูหนาวของสังฆราชาแห่งภูฏาน เนื่องจากนครหลวงเก่าแห่งนี้มีอากาศอบอุ่นกว่าที่อื่น ๆ วัด Chime Lhakhang
วัด Chime Lhakhang อันเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสร้างอุทิศให้กับท่าน นักบุญในตำนานที่ศรัทธาในหมู่ชาวภูฏาน  คือ Drukpa Khunley ผู้ที่มีอารมณ์ขัน มีการแต่งกายและพฤติกรรมแหวกแนวจากนักบวชทั่วไป จนได้ฉายาว่า “คนบ้าจากสรวงสวรรค์” ซึ่งนอกจากเรื่องราวลือลั่นในการปราบปีศาจร้ายแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่ใช้ร่ายมนต์เสกทาคิน (Takin) สัตว์ประจำชาติของภูฏานให้มีชีวิตขึ้นมาจากหัวของแพะและโครงกระดูกของวัว ซึ่งหาชมสัตว์จากตำนานอันเหลือเชื่อตัวเป็น ๆ นี้ได้ที่สวนสัตว์ในทิมพู 

การเข้าถึงวัดแห่งนี้ได้ไม่มีหนทางใดอื่นนอกจากการเดินเท้าจากถนนที่หมู่บ้าน Sopsokha ผ่านหุบเขา Leboca ที่งดงาม เลาะไปตามคันนาราวครึ่งชั่วโมงจึงถึงเนินเขาอันเป็นที่ตั้งของวัดซึ่งมีความเป็นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ตรงลานวัดนั้นเองมีสถูปที่เชื่อว่าสร้างขึ้นบนเนินดินที่นักบุญผู้ลือเลื่องได้ปราบปีศาจสาวที่แปลงกายเป็นสุนัข อันเป็นที่มาของชื่อวัดที่แปลว่า ‘วัดไร้สุนัข’ นั่นเอง

ผู้มาเยือนอาจได้รับการประสาทพรจากคันศรอันศักดิ์สิทธิ์และปลัดขิกของท่าน Drukpa Khunley โดยการทำพิธีของลามะในวิหารซึ่งเชื่อว่าจะนำความสุขสมบูรณ์มาให้ ชาวภูฏานนั้นรู้กันดีว่าวัดนี้เป็นที่พึ่งทางใจของผู้ที่มีบุตรยาก จึงมักจะพบเห็นคู่รักพากันมาสักการะขอพรจากท่าน Drukpa Khunley เพื่อขอทายาทสืบสกุล ปราการแห่งทรองซา (Trongsa Dzong)
นอกจากวัดทักซังในพาโรแล้วนั้น ปราการที่ยาวที่สุดในภูฏานคืออีกตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่ท้าทายภูมิประเทศอันสุดโต่ง ตัวปราการสร้างขึ้นริมผาที่สูงชันที่มีแก่งน้ำทรองซาที่ไหลเชี่ยวในหุบลึกเบื้องล่าง ที่นี่คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญใจกลางแห่งภูฏานในการควบคุมเส้นทางจากตะวันตกและตะวันออก

ประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่ากษัตริย์องค์แรกและองค์ที่สองแห่งภูฏานทรงบริหารราชการแผ่นดินจากปราการแห่งนี้ รวมทั้งมงกุฎราชกุมารยังต้องดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแห่งทรองซา (Trongsa Penlop) ตามธรรมเนียมก่อนที่จะได้ขึ้นครองราชสมบัติ อันแสดงความสำคัญของปราการแห่งทรองซา เช่นเดียวกันปราการอื่น ๆ ภายในป้อมปราการแบ่งเป็นของศูนย์บริการราชการและส่วนของศาสนวิหาร นอกจากนี้ที่หอสังเกตุการณ์ประจำซองก์ (Ta Dzong) ที่อยู่สูงขึ้นไปอีกฝากถนนได้รับการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานพุทธศิลป์ และประวัติศาสตร์ราชวงศ์ที่ไม่ควรพลาดชม

เมืองทรองซานั้นทอดยาวไปตามไหล่เขาซึ่งสามารถเดินได้ทั่วทั่วถึง มีทั้งบ้านและร้านรวงปนเปกันไปริมทาง ซึ่งชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากชาวทิเบตที่อพยพมาตั้งรกรากกันตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 50 เมืองใจกลางแห่งภูฏานนี้มีที่พักหลายแห่งเพื่อผู้พักแรมจากการเดินทางที่ยาวนานบนถนนคดเคี้ยวสู่ภาคตะวันตกและตะวันออกของภูฏาน

You May Also Like